วิธีปลูกแตงเทศ (Cucumis melo)
แตงเทศ จัดเป็นผักที่ใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้เช่นเดียวกับแตงโม เนื้อที่รับประทานได้มีรสหวาน และมีน้ำเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเนื้อจะนิ่มฉ่ำแล้ว ยังมีรสหวาน แตงเทศนี้ปลูกกันแพร่หลายทั้งในแถบเอเชียและอเมริกา ในบางครั้งแตงเทศถูกเรียกว่า Cantaloupe ซึ่งความจริงแล้ว แตงเทศมีหลายชนิดและแตง Cantaloupe ก็เป็นเพียงแตงเทศชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งแตง Cantaloupe นี้ความจริงไม่นิยมปลูกกันกว้างขวาง เพียงแต่มีผู้นำไปปลูกในอิตาลี ผิวของแตง Cantaloupe นั้นจะแข็งมาก ผิวหยาบ มีร่องลึก ส่วนแตงเทศที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปเป็นการค้านั้น มีลักษณะเปลือกนิ่ม ผิวมีลายคล้ายร่างแหปกคลุมทั่วไป ส่วนใหญ่แตงเทศที่ปลูกรับประทานสดมีดังนี้
- Cucumis melo cantaloupensis
- Cucumis melo reticulatus
- Cucumis melo inodorous
แตงเทศเป็นพืชล้มลุก ลำต้นเลื้อยเป็นเถา มีมือยึดเกาะ ผู้ปลูกมักนิยมให้เถาเลื้อยไปตามผิวดิน ในบางครั้งอาจทำค้างให้เลื้อยขึ้น แต่เมื่อมีผลต้องคอยระวังผูกเชือกยึดผลไว้ เนื่องจากผลมีน้ำหนักมาก แตงเทศเหมือนกับพืชในตระกูลแตงทั่วไป คือ มีดอกตัวผู้ดอกตัวเมียแยกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน การผสมละอองเกสรต้องอาศัยแมลง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต แตงเทศเจริญเติบโตได้ที่ในเขตที่มีอากาศแห้ง แสงแดดจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ 18.5 – ซ แต่จะงอกได้ดีในอุณหภูมิสูงกว่านี้เล็กน้อย ในระยะที่ผลแก่หากมีฝนตก รสชาติของเนื้อแตงจะจืดมาก แตงเทศขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ยกเว้นดินเหนียวจัดและดินที่เป็นกรดจัด ชอบดินร่วนทราย มีการระบายน้ำดี ธาตุอาหารในดินต้องเพียงพอ หากดินค่อนข้างเป็นดินเหนียวต้องเติมอินทรีย์วัตถุให้มาก ความชื้นในดินต้องมีเพียงพอ ตลอดฤดูปลูก หากดินแห้งและขาดน้ำบ่อย จะทำให้เถาเล็ก การเจริญเติบโตจะลดลง ผลจะมีขนาดเล็กด้วย มักให้ผลดีเมื่อปลูกในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์
การเตรียมดินและการปลูก โดยทั่วไปจะปลูกแตงเทศโดยหยอดเมล็ดลงในหลุมโดยตรง แปลงปลูกควรขุดไถลึกประมาณ 20 – 25 ซม. และควรใส่ปุ๋ยคอดหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวเต็มที่แล้ว เพื่อทำให้ดินร่วมซุยและอุ้มน้ำได้ดีด้วย ถ้าเป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำ เตรียมเป็นแปลงขนาดใหญ่และขุดหลุมปลูก หากเป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำ ควรยกร่องและปลูกบนร่องเพื่อให้มีการระบายน้ำสะดวก หากเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชหลายครั้งติดต่อกัน และใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในการปลูกพืชทุกครั้ง ควรใส่ปูนขาวเพื่อแก้ความเป็นกรดของดินด้วย
การปลูกจะหยอดเมล็ดลงในหลุมตามระยะปลูก คือถ้าปลูกในแปลงขนาดใหญ่ ควรใช้ระยะ 60 – 80 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับการปลูก แล้วปล่อยให้แตงเลื้อยไปตามดิน หากจะให้แตงเลื้อยขึ้นค้าง ควรใช้ระยะปลูกประมาณ 60 – 90 – 120 ซม. จำนวนเมล็ดที่ใช้ปลูกในแปลงปลูกขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ประมาณ 40 – 60 กรัม ควรกลบเมล็ดด้วยปุ๋ยคอกหนา 1 – 2 นิ้ว และรดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดที่ปลูกหยอดหลุมละ 3 – 5 เมล็ด ควรคลุมด้วยฟางแห้งหลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ต่อมาเมล็ดจะงอกเมื่อมีใบจริงประมาณ 2 ใบ ถอนต้นกล้าที่อ่อนแอทิ้งเสีย ให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
การปฏิบัติดูแลรักษา
การให้น้ำ วิธีการให้น้ำที่เหมาะสม ควรให้น้ำระบบ Furrow system เพราะใบและลำต้นจะได้ไม่เปียกน้ำ เป็นการป้องกันการเกิดโรคเน่าทางใบและลำต้น ควรให้น้ำสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก แต่อย่าให้น้ำขังและแฉะในแปลงปลูก
การคลุมดิน หากจะปลูกให้แตงเทศมีแถวเลื้อยไปตามดินแล้ว เมื่อแตงเทศเริ่มมีเถาเลื้อย ควบคุมแปลงด้วยฟางแห้งที่สะอาดหนาพอประมาณคือราว 7 – 10 ซม. ทั้งผืนแปลงเพื่อป้องกันมิให้เถาแตงสัมผัสผิวดิน และเมื่อแตงออกผล ผลแตงจะได้สะอาด เชื้อโรคไม่สามารถเข้าทำลายได้ง่าย นอกจากนี้การคลุมดินยังช่วยลดอุณหภูมิของดิน ทำให้การเจริญของเถาแตงเทศดีขึ้น และยังเป็นการป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นบนแปลงอีกด้วย ควรตัดแต่งเถาแตงให้เหลือเพียง 2 เถาต่อต้น และจัดเถาให้เป็นระเบียบ เพราะถ้าปล่อยตามธรรมชาติแล้ว เถาแตงจะแตกยอดมากและเลื้อยทับไปทับมา ทำให้อับทึบ ไม่โปร่งเป็นโรคเน่าได้ง่าย
หากปลูกแตงแบบให้เลื้อยขึ้นค้าง ควรปักไม้ค้างให้เถาแตงเมื่อเริ่มเลื้อย การปักไม้ค้างควรปักทุกหลุมแล้วเอนปลายเข้าหากัน ผูกเป็นกระโจมและเอาไม้พาดขวาง 3 – 4 ช่วงในการปลูกแบบขึ้นข้างนี้ควรตัดแต่งเถาแตงให้เหลือต้นละเพียงเถาเดียว และเมื่อแตงติดผลต้องใช้ตะกร้าแขวนผูกรับผลแตงไว้เพื่อช่วยแบ่งน้ำหนักจากเถาแตง การปลูกแตงแบบปักค้างนี้ทำให้สะดวกในการดูแลป้องกัน กำจัดโรคและแมลงได้ผลแตงไม่เสียหาย
ในบางครั้งเมื่อแตงเทศมีใบจริงประมาณ 2 ใบ ชาวสวนนิยมเด็ดยอด ทำให้แตงเทศนั้นแตกแขนง จะทำให้เก็บผลได้เร็วขึ้น
การให้ปุ๋ย เนื่องจากเราบริโภคผล ดังนั้นปุ๋ยที่ให้ควรมีสัดส่วนไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : พอแตสเซียม = 1 : 1 : 1.5 – 2 สูตรปุ๋ยที่ใช้คือ 13 : 13 : 21 ในอัตรา 50 – 100 กก./ไร่ แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ครึ่งหนึ่งของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดควรใส่เป็นปุ๋ยรองพื้น และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่อแตงอายุได้ 10 – 15 วัน และแตงเริ่มติดผลแรกแล้วตามลำดับ โดยใส่แบบโรยข้างแล้วพรวนดินกลบ
พบว่าแตงจะมีผลผลิตสูง เมื่อใส่ปุ๋ยคอกแบบรองก้นหลุม ดีกว่าจะหว่านทั่วไปทั้งแปลง
การเลี้ยงผลแตงไว้ ผลแตงที่เกิดขึ้นในช่วงข้อแรกๆ จนถึงข้อที่ 10 จะมีขนาดเล็กและมีคุณภาพไม่ดี และถ้าเลี้ยงผลแตงเหล่านี้ไว้ จะทำให้การเจริญเติบโตของเถาไม่ดี ดังนั้นจึงนิยมเอาผลที่เกิดตั้งแต่ข้อที่ 11 เป็นต้นไปไว้กับต้น ส่วนผลที่เกิดจากข้อแรกถึงข้อที่ 10 ควรเด็ดดอกตัวเมียทิ้งไป การเก็บผลไว้ควรเก็บเถาละ 2 ผล ดังนั้นจะได้ต้นละ 4 ผล สำหรับการปลูกแบบเลื้อยไปตามดิน และสำหรับการปลูกแบบขึ้นค้างนั้น เนื่องจากเลี้ยงไว้ 1 เถาต่อต้น ดังนั้น จะได้ผลแตง 2 ผลต่อต้น หากจะให้ผลมีคุณภาพดีเยี่ยม ควรห่อผลด้วยกระดาษเพื่อไม่ให้แมลงเข้าทำลายผลได้
การเก็บเกี่ยว จะสังเกตว่าแตงเทศนั้นแก่ได้ เมื่อปรากฎร่างแหอยู่รอบๆ ผิวของผล และเป็นรอยนูนเห็นชัดเจน และรอยนูนนี้จะแข็ง เปลือกจะนุ่ม เมื่อผลเริ่มสุกขั้นของผลจะแตกและสามารถปลิดผลออกได้ง่าย ระยะนี้เรียกว่า Full slip แตงที่เก็บส่งตลาดสดเลยมักเก็บในระยะนี้ส่วนแตงที่เก็บแล้วต้องขนส่งไปไกลต้องเก็บในระยะ Half slip และหากเก็บผลแตงโดยให้มีส่วนของเถาแตงติดมาด้วย 1 ฟุต และผลแตงจะค่อยๆ สุกขณะติดอยู่บนเถานี้จะทำให้แตงหวานและมีคุณภาพดีเหมือนเมื่อแตงสุกอยู่บนต้น อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 80 – 130 วัน หลังจากหยอดเมล็ด
เมื่อสุกปริมาณน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น ปริมาณแป้งจะลดลง แตงเทศที่มีคุณภาพดี ต้องมีเนื้อหา มีสีส้มสด เนื้อเรียบละเอียด ไม่มีเปลี่ยนสี มีความนุ่มปานกลาง มีกลิ่นหอม รสหวานไม่มีเสี้ยน คุณภาพเหล่านี้นอกจากขึ้นกับพันธุ์แตงเทศแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีก คือ
- มีใบสมบูรณ์
- ผลแตงแก่เต็มที่
- ได้รับแสงแดดและอากาศอบอุ่น
การเก็บรักษาผลแตงเทศ ผลของแตงเทศควรเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ 32 – ฟ มีความชื้นสัมพัทธ์ 75 – 85% จะเก็บไว้ได้นาน 1 – 3 สัปดาห์ รสชาติจะดี แตงเทศที่ได้รับความร้อนสูงจะสุกเร็ว
พันธุ์แตงเทศ
ส่วนใหญ่พันธ์แตงเทศที่ดี เป็นพันธุ์ลูกผสม สั่งเมล็ดพันธุ์มาจากต่างประเทศ ราคาเมล็ดพันธุ์ดังที่ทราบว่าแพง ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ จึงมักใช้เพาะเมล็ดในถุงพลาสติก หรือในลังไม้ เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงประมาณ 3 ใบ หรือมีอายุประมาณ 25 – 30 วัน จึงย้ายต้นกล้านั้นปลูกลงในหลุมที่เตรียมไว้ในแปลงปลูกต่อไป ต้นกล้าขณะย้ายต้องให้มีดินติดรากเสมอ มิฉะนั้น จะชะงักการเจริญเติบโตหลังจากนำไปปลูกในแปลง
พันธุ์ที่นิมยมปลูกกันได้แก่
- Dixie Jumbo Hybrid เป็นพันธุ์ที่มีผลหนักประมาณ 1.8 – 2 กก. ผลมีร่างแห ผลมีสีส้ม เมื่อสุก เนื้อสีเหลืองส้ม
- Sweer Eve Hybrid ผลมีสีเหลืองเมื่อแก่ เนื้อสีขาว หวานมาก น้ำหนักผลประมาณ 1 กก. ผลมีร่างแห
- Sky Rocket Hybrid ผลกลม ผิวสีเขียว เนื้อมีสีเขียว หวาน น้ำหนักผลประมาณ 1 – 1.5 กก.
- Golden Crispy Hybrid ผลมีลักษณะกลม รี ผิวสีเหลืองเรียบ ขนาดผลมีน้ำหนักประมาณ 350 กรัม/ผล ผลผลิตสามารถให้ 10 ผล/ต้น เนื้อสีขาว
- Silver star Hybrid ผลกลม ผิวเรียบ ไม่มีร่างแห เนื้อสีเขียวอ่อน รสหวาน น้ำหนักผลประมาณ 1.5 กก.
โรคและแมลง
โรคที่ทำลายแตงเทศมีดังนี้ คือ
- Mosiac Virus อาการจะมีใบหงิกเถาแตงไม่เจริญเติบโต เกิดจากเชื้อไวรัส โดยใช้แมลงเป็นพาหะ และแมลงนี้จะอาศัยอยู่กับวัชพืชหรือพืชตระกูลแตงป่าอื่น ดังนั้นควรทำลายวัชพืชในบริเวณข้างเคียงแปลงที่ปลูกแตงเสีย และเมื่อพบต้นแตงที่เป็นโรคในระยะแรกควรถอนทิ้งและเผาเสีย
- Bacterial Wilt เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำให้เถาแตงเทศเหี่ยว เชื้อนี้จะถูกนำมาโดยแมลงพวก Stripped beetle การพ่นสาร Rotenone อยู่เสมอจะเป็นวิธีที่ควบคุมโรคนี้ได้
- Anthracnose อาการใบและผลเป็นแผล ต่อมาจะเน่า เชื้อราที่ทำลายคือ collectotrichum lagernarium จะติดมากับเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ใน Bordeaux mixture
- Powdery mildew เกิดจากเชื้อราระบาดร้ายแรง ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้ซึ่งผสมขึ้นมาคือพันธุ์ PMR – 45, PMR – 5, แต่ก็ต้านทานไม่ได้ 100%
- Downy mildew เกิดจากเชื้อราเช่นกัน จะระบาดรุนแรงขณะที่มีอากาศอบอุ่น ป้องกันโดยใช้พันธุ์ต้านทาน หรือพ่นด้วยผง Carbamate
แมลง แมลงที่เข้าทำลายแตงเทศมีดังนี้คือ
- Melon Aphid ใช้ยา Parathion ฉีดพ่น
- Stripped Cucumber beetle จะทำลายในระยะแรกของการเจริญเติบโต ใช้ยาที่มีสาร Rotenone หรือ Carbamate หรือยา Malathion, Parathion
- Pickle Worm ตัวโตจะฝังเข้าไปในลำต้น และผลของแตงเทศ วิธีป้องกันฉีดพ่น Cryolite ทุกๆ สัปดาห์ในช่วงออกดอกออกผล
นอกจากนี้ยังมี Nematode เข้าทำลายรากของแตงเทศ อย่างไรก็ดี วิธีการป้องกันที่ดีคือ เลือกพื้นที่ใหม่ๆ ในการปลูก และการปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยลดการทำลายแมลงและโรคพืช