เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture)
ปัญหาหลักของเกษตรกรในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในเขตที่มีฝนค่อนข้างน้อยและส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่ เกษตรกรยังคงทำการเพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และมีความเสี่ยงกับความเสียหายอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง แม้ว่าจะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้บ้างแต่ก็ไม่มีขนาดแน่นอน หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอรวมทั้งระบบ การปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาดดังกล่าวให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หลักการสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่
การบริหารจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะดินและน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกษตรสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง โดยเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด
เหตุที่เรียก “เกษตรทฤษฎีใหม่”
- มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินขนาดเล็กเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนเพี่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร
- มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะเก็บกักให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี
- มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนของเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มี 3 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 เป็นการผลิตแบบพึ่งตนเองด้วยวิธีง่าย ๆ ค่อนเป็นค่อยไปตามกำลังพอมีพอกินไม่อดอยาก
ขั้นที่ 2 เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในเรื่องของการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา
ขั้นที่ 3 ร่วมมือกับแหล่งเงินและพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ซึ่งมิใช่ทำอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว
- ขั้นที่ 1 เป็นการสร้างความพอเพียงในระดับครอบครัว
- ขั้นที่ 2 และ 3 เป็นการสร้างความพอเพียงในระดับชุมชน
การจัดการในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่
การจัดสรรพื้นที่ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานสำคัญแบ่งออกเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่อาศัยน้ำฝน และเกษตรทฤษฎีใหม่อาศัยน้ำชลประทาน (เติมน้ำได้)
เกษตรทฤษฎีใหม่อาศัยน้ำฝน การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10
- ส่วนที่ 1 สระน้ำ 30%
- ส่วนที่ 2 นาข้าว 30%
- ส่วนที่ 3 พืชสวนพืชไร่ 30%
- ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัย 10%
เงื่อนไข คือมีพื้นที่น้อย (ประมาณ 15 ไร่) อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝน ฝนตกไม่ชุกปลูกข้าวเป็นพืชหลัก สภาพดินสามารถขุดสระเก็บกักน้ำได้ ฐานะค่อนข้างยากจนมีสมาชิกในครอบครัวปานกลางประมาณ 5-6 คน และไม่มีอาชีพหรือรายได้อื่นที่ดีกว่าในบริเวณใกล้เคียง
เกษตรทฤษฎีใหม่อาศัยน้ำชลประทาน (เติมน้ำได้) การทำทฤษฎีใหม่สามารถยืดหยุ่นปรับสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ภาคใต้ที่มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมได้หรือมีระบบชลประทานเข้าถึงสัดส่วนของสระน้ำอาจเล็กลง แล้วเพิ่มเติมพื้นที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผักแทน โดยอาจแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 16 : 24 : 50 : 10
อ่างเก็บน้ำ > สระน้ำ > แปลงเกษตรกรรม
- ส่วนที่ 1 สระน้ำ 16%
- ส่วนที่ 2 นาข้าว 24%
- ส่วนที่ 3 ไม้ผล พืชหลัก และพืชไร่ 50%
- ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัย 10%
ที่ดอน จัดเป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผล เลี้ยงสัตว์ และที่อยู่อาศัย
ที่ลุ่ม จัดเป็นพื้นที่ทำนาข้าว แปลงผัก และสระน้ำ
เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น การจัดสรรที่อยู่อาศัยและทำกิน
“การผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังให้พอมีกินไม่อดอยาก”
โดยให้แบ่งพื้นที่ซึ่งเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยมีเนื้อที่ถือครอง 10-15 ไร่/ครอบครัว โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ แหล่งน้ำ : นาข้าว : พืชผสมผสาน : โครงสร้างพื้นฐานในอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้
ส่วนแรก ร้อยละ 30 ให้ขุดสระกักเก็บน้ำในฤดูฝน เพาะปลูกและเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้วได้ตลอดปี ทั้งยังใช้เลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ และพืชริมสระเพื่อการบริโภคและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยพระราชทานแนวทางการคำนวณว่าต้องการน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ และบนสระน้ำสามารถสร้างเล้าไก่ เล้าเป็ดและเล้าสุกรเพิ่มด้วยก็ได้
ส่วนที่สอง ร้อยละ 30 ให้ทำนาข้าวเนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักโดยมีหลักเกณฑ์เฉลี่ยเกษตรกรบริโภคข้าวคนละ 200 กิโลกรัมข้าวเปลือก/ปี ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
ส่วนที่สาม ร้อยละ 30 ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ทำเชื้อเพลิง ไม้สร้างบ้าน พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อการบริโภคและใช้สอยอย่างพอเพียง หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป
ส่วนที่สี่ ร้อยละ 10 (โครงสร้างพื้นฐาน) เป็นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ถนน ลานตากฉางข้าว กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด พืชผักสวนครัว เป็นต้น
เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
หลักการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง เมื่อเกษตรกรเข้าใจหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกิน และตัดค่าใช้จ่ายลงเกือบทั้งหมด มีอิสระจากสภาพปัจจัยภายนอกแล้วและเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สอง
เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
“เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติที่ดินของตนเองจนได้ผลแล้วก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ร่วมแรงในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศรัทธาเพื่อให้พอมีกินมีใช้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นพร้อม ๆ กันไม่รวยคนเดียว”
ดำเนินการดังนี้
- การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืชปุ๋ย การจัดการน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก - การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
เมื่อมีผลผลิตแล้วจะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการร่วมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลง - การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้าที่พอเพียง - สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
แต่ละชุมชนมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน - การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชน - สังคมและศาสนา (ชุมชน วัด)
ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกชุมชนเป็นสำคัญ
เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
“เมื่อดำเนินการขั้นตอนที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วงกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชนบท ซึ่งไม่ได้ทำอาชีพเกษตรอย่างเดียว”
ทั้งนี้ ฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
- เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
- ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
- เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาต่ำ เนื่องจากรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
- ธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการนกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
ประโยชน์เกษตรทฤษฎีใหม่
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ นั้น พอสรุปถึงประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ได้ดังนี้
- ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัดไม่อดอยากและเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”
- ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา หรือทำอะไรอื่น ๆ ก็ได้แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ ไม่ต้องเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่เพราะมีของตนเอง
- ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยตลอดปี เกษตรทฤษฎีใหม่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยขึ้นได้ ในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากเกินไป อันเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย
แปลงตัวอย่างการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ นายขวัญใจ แก้วหาวงศ์
พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊อยู่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตามแนวพระราชดำริ บ้านเหล่านกยูง หมู่ที่ 6 ตำบลดองมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ดำเนินการ 20 ไร่ เดิมใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวและใช้น้ำจากบ่อขนาดเล็กในไร่นาเพาะปลูกพืชอายุสั้นในฤดูแล้งในนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ต่อมาในปี 2550 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้สนับสนุนขุดสระทฤษฎีใหม่ในไร่นาให้ 1 แห่ง จึงทำการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง ตามแนวทฤษฎีใหม่
กิจกรรมที่ดำเนินการ
- ปลูกข้าวนาปี 16 ไร่
- ปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ 1 ไร่ 2 งาน
- ปลูกพืชไร่ 1 ไร่
- ปลูกพืชผัก 2 งาน
- เพาะเห็ดในโรงเรือน 1 โรง
- เลี้ยงโค 6 ตัว
- เลี้ยงปลา 1 บ่อ/1 ไร่/6,000 ตัว
- เลี้ยงปลาในนาข้าว 2 ไร่
- เลี้ยงปลาในกระชัง 4 กระชัง
- เลี้ยงกับในกระชัง 3 กระชัง
- เลี้ยงไก่ดำภูพาน 40 ตัว
- เลี้ยงสุกรภูพาน 2 ตัว
- เลี้ยงเป็ดเทศ 30 ตัว
- ปลูกอ้อย 3 ไร่
วิธีดำเนินการ
จัดแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 4 ส่วน ตามองค์ประกอบของทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แต่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่และแรงงานดังนี้
ส่วนแรก พื้นที่ 1 ไร่ (5%) เป็นแหล่งน้ำและเลี้ยงปลา
ใช้พื้นที่บ่อน้ำขนาดเล็กบ่อเดิม ซึ่งอยู่ใกล้ประตูระบายน้ำจากคลองส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ ขุดเป็นบ่อทฤษฎีใหม่ ขนาดกว่า 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 3.5 เมตร มีความจุน้ำประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกพืชและทำการประมง สามารถรับการเติมน้ำจากอ่างเก็บน้ำแล้วระบายลงสู่แปลงเกษตรในพื้นที่ล่มได้ด้วย บริเวณคันคูรอบสระน้ำใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน ได้แก่ มะพร้าว ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ มะม่วง มะละกอ กล้วย ฯลฯ และพืชผักต่าง ๆ แซมระหว่างแถวของไม้ผล ส่วนขอบสระมีการปลูกหญ้าแฝกและข่า ตระไคร้ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต ข่า ตะไคร้ ไปจำหน่ายและตัดใบคลุมโคนไม้ผล สำหรับน้ำที่อยู่ในสระ มีการปล่อยปลาเลี้ยงเพื่อการบริโภคและจำหน่ายจำพวกปลากินพืช ได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ฯลฯ ปีละประมาณ 6,000 ตัว มีรายได้จากการจำหน่ายปลาปีละ 3,000 บาท และยังมีการทำกระชังเลี้ยงปลาดุกและกบอีก รวม 7 กระชัง พื้นที่มุมสระน้ำด้านหนึ่งได้จัดทำคอกสัตว์ปีกสำหรับเลี้ยงเป็ดบาบาหลี 30 ตัว และไก่ดำภูพาน 40 ตัว มีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ปีกปีละ 2,500 – 3,000 บาท นอกจากนี้บนขอบสระมีคอกเลี้ยงสุกรดำพันธุ์ภูพาน จำนวน 3 ตัว
ส่วนที่ 2 พื้นที่ 16 ไร่ (80%) เป็นพื้นที่ปลูกข้าว
ใช้ปลูกข้าวนาปีโดยอาศัยน้ำฝน ถ้าประสบภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงสามารถทดน้ำจากสระทฤษฎีใหม่ลงสู่แปลงนาได้ พันธุ์ข้าวที่ปลูกใช้ข้าวพันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ พันธุ์ กข 6 และหอมมะลิ 105 มีการเพาะปลูกข้าวตามหลักวิชาการที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในการปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยพืชสดร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ในปีหนึ่ง ๆ จะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 5.6 ตัน เฉลี่ยผลผลิต 350 กก./ไร่ จึงมีค่าตอบแทนจากการทำนาคิดเป็นเงิน 56,000 บาท/ปี ในระหว่างการเพาะปลูกข้าวในนา ได้ใช้พื้นที่นา จำนวน 2 ไร่ ปล่อยปลาเลี้ยงในนาข้าวเพื่อเป็นอาหารและจำหน่ายเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มรายได้ อีกทั้งปลายังช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นข้าวโดยการถ่ายมูลและแหวกว่ายถ่ายเทอากาศ กำจัดวัชพืชและศัตรูพืชในนาข้าวได้อีกด้วย หลังจากมีการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูนาปีแล้วจะไถกลบตอซัง และเตรียมดินเพาะปลูกพืชอายุสั้นในนาข้าว ทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง เมื่อจะปลูกข้าวในฤดูนาปีครั้งต่อไป ก็จะหว่านเมล็ดพืชตระกูลถั่วทำปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับสภาพของดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นข้าว
ส่วนที่ 3 พื้นที่ 2 ไร่ (10%) เป็นพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน
ไม้ผล-ไม้ยืนต้น พื้นที่ 1.5 ไร่
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มใช้ปลูกพืชยืนต้นได้น้อย จึงได้ปรับสัดส่วนการปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น ลดลงตามศักยภาพของพื้นที่ ดังนั้น จึงมีการปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้นบนคันคูรอบสระน้ำ และปลูกบนคันนาโดยทำคันนาให้ขยายใหญ่กว่าปกติ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น ที่เพาะปลูกมีหลายชนิด มีทั้งที่ให้ผลผลิตแล้วและยังไม่ให้ผลผลิต ที่ให้ผลผลิตแล้วส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้า ซึ่งจะมีรายได้จากการขายผลผลิตไม้ผล-ไม้ยืนต้น ปีละประมาณ 2,000 บาท
พืชไร่-พืชผัก และพืชอายุสั้นต่าง ๆ พื้นที่ 0.5 ไร่
ดำเนินการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ เนื่องจากพื้นที่ดอนมีจำกัด จึงได้กันพื้นที่นาดอนไว้ประมาณ 0.5 ไร่ เพื่อปลูกแตงกวาในปลายฤดูฝนเพราะผลผลิตมีราคาดี และเมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวที่เพาะปลูกในนาทั้งหมดแล้ว จะใช้พื้นที่นาจำนวน 2 ไร่ เพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ ตามที่ตลาดต้องการ สลับหมุนเวียนกันไปตลอดฤดูกาล ซึ่งการปลูกพืชหมุนเวียนเป็นการหลีกเลี่ยงการระบาดของศัตรูพืชและทำให้พืชใช้ธาตุอาหารในดินได้คุ้มค่าเพราะพืชแต่ละชนิดมีความของรากไม่เท่ากัน จึงดูดซับธาตุอาหารในดิน ในระดับที่ต่างกัน รายได้จากการปลูกพืชไร่-พืชผัก และพืชอายุสั้นต่าง ๆ ปีละ 75,000 บาท ในการปลูกพืชอายุสั้นในนาข้าวจะใช้วิธีขุดร่องน้ำเล็ก ๆ แล้วสูบน้ำจากสระทฤษฎีใหม่ลงสู่ร่องน้ำระบายเข้าแปลงนาเพื่อให้น้ำแก่พืช
ส่วนที่ 4 พื้นที่ 1 ไร่ (5%) ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ
เป็นพื้นที่สร้างบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ได้แก่ คอกเลี้ยงสัตว์ โรงปุ๋ยอินทรีย์ที่เก็บเครื่องมือการเกษตร ที่เก็บอาหารสัตว์ โรงเพาะเห็ด รวมทั้งศาลาเรียนรู้ที่สร้างไว้สำหรับเป็นที่จัดประชุม และไว้ต้อนรับผู้ที่มาศึกษาดูงาน นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ที่อยู่อาศัยยังมีการปลูกพืชผักต่าง ๆ และพืชสมุนไพรไว้ศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
สรุปการทำเกษตรทฤษฎีใหม่
- กำหนดการลงทุนและดำเนินการผลิตในแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่มากจนเกินกำลัง อาศัยแรงงานของคนในครอบครัวเป็นหลัก
- บริหารการใช้จ่ายในครอบครัวไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชเลี้ยงสัตว์หลายชนิดได้ผลผลิตทุกฤดูกาล มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค เลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็นที่ผลิตเองไม่ได้
- จัดแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรอย่างมีเหตุผล ปรับยืดหยุ่นสัดส่วนพื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ให้สามารถใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพทุกพื้นที่ ทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง
- มีการวางแผนการผลิต โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และช่วงเวลาการเพาะปลูกที่จะทำให้จำหน่ายผลผลิตได้ในราคาดี
- รู้จักนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้กับความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงบำรุงดินโดยทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง และการใช้ฮอร์โมนจากพืชทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืช ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต เป็นต้น
- เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร จัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ประจำอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ บ้านเหล่านกยูง หมู่ที่ 6 ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร