ธาตุอาหารของพืช ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและแร่ธาตุหลายๆ ชนิดซึ่งต่างก็เป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและออกดอกอกผล ดังนั้น nutrition จึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของพืชเป็นอย่างมาก สมควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะประกอบกิจการทางด้านกสิกรรม พืชได้รับ nutrition ต่างๆ เหล่านี้จากสิ่งแวดล้อมรอบๆ พืชนั้น เช่น ได้น้ำและแร่ธาตุต่างๆ จากดิน ได้คาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ เพราะฉะนั้นสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินจึงนับว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลมากในแง่ที่ว่าพืชจะได้รับ nutrition เพียงพอหรือไม่ ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะทำให้ดินมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นและแร่ธาตุอะไรบ้างที่จำเป็นแก่การเจริญเติบโตของพืช
ชนิดและที่มาของธาตุอาหารของพืช
ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของพืชซึ่งเรียกว่า essential elements มีอยู่ 16 ธาตุด้วยกัน คือ
- คาร์บอน (C)
- ไฮโดรเจน (H)
- อ็อกซิเจน (O)
- ไนโตรเจน (N)
- ฟอสฟอรัส (P)
- โปรแทสเซียม (K)
- แคลเซียม (Ca)
- แมกนีเซี่ยม (Mg)
- ซัลเฟอร์ (S)
- เหล็ก (Fe)
- แมงกานีส (Mn)
- โบรอน (B)
- โมลิบดินั่ม (Mo)
- ทองแดง (Cu)
- สังกะสี (Zn)
- และคลอรีน (CI)
ธาตุเหล่านี้มีแหล่งที่มาใหญ่ๆ สามทางด้วยกันคือ อากาศ น้ำและดิน พืชได้รับคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนจากน้ำและอากาศซึ่งมีอยู่พอเพียงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงอีกต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 13 ธาตุนั้นพืชดูดดึงขึ้นมาจากดินโดยทางราก และเป็นธาตุที่มักจะมีไม่ค่อยเพียงพอแก่ความต้องการของพืช แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมได้ อาหารธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองพวกใหญ่ๆ โดยอาศัยปริมาณที่พืชนำไปใช้ดังนี้
(1) Macronutrient elements ธาตุอาหารพวกนี้พืชต้องการใช้เป็นปริมาณมากมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ธาตุ คือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนิเซียม (Mg) และซัลเฟอร์ (S) ธาตุเหล่านี้มักจะขาดแคลนอยู่เสมอโดยเฉพาะสามธาตุแรก เพราะนอกจากพืชต้องการใช้เป็นจำนวนมากแล้วยังมีอยู่ในดินเป็นจำนวนค่อนข้างจำกัดอีกด้วย ดังนั้น ในการปลูกพืชลงไปในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ธาตุเหล่านี้หมดไป และบริษัทที่ผลิตปุ๋ยขายมักจะใช้ธาตุทั้งสามเป็นหลักในการผลิตปุ๋ย เราจึงเรียกธาตุนี้ว่า fertilizer elements หรือ major elements หรือ primary elements สำหรับธาตุ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และซัลเฟอร์นั้นพืชต้องการน้อยกว่าสามธาตุแรก และโดยปกติจะมีอยู่ในดินเป็นจำนวนพอเพียง เราเรียกธาตุทั้งสามนี้ว่า secondary elements
(2) Micronutrient element (trace หรือ minor elements) เป็นธาตุที่ต้องการใช้ในปริมาณน้อย สำหรับการเจริญเติบโตและมีความสำคัญต่อการเติบโตของพืชไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพวก macronutrient elements ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) และคลอรีน (CI) อาหารธาตุพวกนี้อยู่ในดินเป็นจำนวนน้อย แต่เนื่องจากพืชต้องการเป็นปริมาณน้อย ปัญหาการขาดธาตุพวกนี้จึงไม่ค่อยปรากฏนัก นอกจากนั้น ธาตุเหล่านี้ถ้ามีอยู่ในดินมากเกินควรอาจเป็นพิษกับพืชได้ ดินที่มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการขาดธาตุอาหารเหล่านี้จะเป็นดินที่ปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานานและไม่เคยให้ปุ๋ยเลย หรือเป็นดินที่เป็นต่างจัด (alkaline soil) หรือดินทราย ทั้งนี้เพราะในดินทรายมีปริมาณธาตุพวกนี้น้อยมากส่วนในที่ดินที่เป็นด่างจัดแม้มีธาตุพวกนี้อยู่มาก แต่ธาตุพวกนี้ส่วนมากจะอยู่ในรูปหรือสภาพที่พืชใช้ไม่ได้
หน้าที่และความสำคัญของธาตุอาหารของพืช
ไนโตรเจน(N)
เป็นธาตุที่มีบทบาทเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชอย่างเห็นได้ชัดที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ amino acies, chlorophyll และ enzyme ต่างๆ ซึ่งอาจจะสรุปถึงความสำคัญและหน้าที่ของไนโตรเจนที่มีต่อการเติบโตของพืชอย่างกว้างๆ ดังนี้
- ช่วยกระตุ้น (stimulate) ให้พืชเจริญเติบโตและมีความแข็งแรง
- ทำให้ใบไม้สีเขียวเข้ม
- ส่งเสริมให้พืชตั้งตัวได้เร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต
- เพิ่มปริมาณโปรตีนให้แก่พืช
- ควบคุมการออกดอกออกผลของพืชและทำให้พืชมีผลผลิตสูงขึ้น
ถ้าไนโตรเจนในดินมีปริมาณไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพืช อาการขาดแร่ธาตุชนิดนี้ก็จะเกิดขึ้น พืชแต่ละชนิดจะมีอาการขาดธาตุอาหารต่างกัน แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วพืชที่ขาดธาตุไนโตรเจนมักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- พืชจะสูญเสียสีเขียวโดยเฉพาะที่ใบ ใบของพืชจะมีสีเหลืองผิดปกติ โดยใบข้างล่างจะเหลืองก่อน
- พืชบางชนิดจะมีลำต้นสีเหลือง หรือมีสีชมพูเจือปนอยู่ด้วย
- พืชพวกหญ้า ใบของพืชที่อยู่ข้างล่างจะมีสีเหลืองปนสีส้ม โดยเริ่มที่ปลายและขอบของใบแล้วค่อยๆ แห้งและลุกลามเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดใบจะร่วงหล่นลงมาจากต้นก่อนถึงกำหนด
- ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็กและมีน้อย
- พืชจะไม่เติบโตหรือโตช้ามาก การงอกของยอดและกิ่งก้านก็ช้า
- ให้ผลผลิตต่ำและคุณภาพเลว
แต่ถ้าพืชได้รับอาหารธาตุไนโตรเจนมากเกินพอ ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องจากการให้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างหละหลวม ผลเสียหายก็จะเกิดขึ้นแก่พืชดังนี้ คือ
- คุณภาพของเมล็ด ผล และใบเสื่อมลง
- ทำให้พืชแก่ช้าผิดปกติ เพราะไนโตรเจนส่งเสริมให้มีการเจริญเติบโตอยู่เรื่อยๆ
- ทำให้ผลผลิตของพืชที่ให้เมล็ดลดลง เพราะในสภาพที่มีไนโตรเจนมากๆ นั้น พืชมุ่งในการสร้างยอด ลำต้น กิ่งและใบมากกว่าการสร้างดอกและเมล็ด
- ทำให้พืชพวกข้าวและข้าวโพดมีลำต้นอ่อน ล้มง่าย
- ความต้านทานต่อโรคลดลง
ฟอสฟอรัส(P)
เป็นองค์ประกอบสำคัญนของ enzyme ต่างๆ หลายชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม (metabolism) ของพืช และยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งจะปลดปล่อย energy ออกมา ทำให้สารที่เฉื่อยไม่ยอมทำปฏิกิริยากับใครกลายเป็นสารประกอบที่ active และชอบทำปฏิกิริยากัน พอจะสรุปถึงความสำคัญของฟอสฟอรัสที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชทั่วๆ ไปได้ดังนี้
- ช่วยให้รากดูดดึงโปแตสเทียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากฝอยและรากแขนงในระยะแรกของการเจริญเติบโต
- ช่วยเร่งให้พืชแก่เร็ว ช่วยในการออกดอกและสร้างเมล็ดของพืช พบมากตรงส่วนเมล็ดและผล
- ทำให้ผลิตผลของพืชมีคุณภาพดี
- ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อโรคบางชนิด
- ช่วยทำให้ลำต้นของพืชพวกข้าวแข็งแรงไม่ล้มง่าย
ดินส่วนมากมักจะมีฟอสฟอรัสอยู่น้อยจึงไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการของพืช พืชบางชนิดเมื่อขาดธาตุชนิดนี้จะแสดงอาการขาดอาหารธาตุอย่างเห็นได้ชัด แต่พืชบางชนิดก็จะสังเกตเห็นได้ยาก และมีอาการแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามอาการของพืชที่ขาดอาหารธาตุฟอสฟอรัสจะมีลักษณะโดยทั่วๆ ไปดังนี้
- พืชจะแก่ช้ากว่าปกติ ต้นแคระแกรน พืชบางชนิดอาจมีลำต้นหรือเถาบิดเป็นเกลียวเนื้อไม้จะแข็งแต่เปราะและหักง่าย
- รากเจริญเติบโตและแพร่กระจายลงไปในดินช้ากว่าที่ควร
- ดอกและผลที่ออกมาจะแคระแกรนถึงแม้บางครั้งใบและลำต้นของพืชจะดูสมบูรณ์ก็ตาม
- พืชพวกธัญพืช (cereal) จะล้มง่าย
- ใบและลำต้นของพืชบางชนิดจะมีสีม่วง
โปแตสเซี่ยม (K)
ปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบแน่นอนว่าโปแตสเซี่ยมเป็นองค์ประกอบของสารอะไรบ้างในพืช แต่พบว่าต้องการมากขณะที่ยังอ่อนอยู่และในระหว่างการเจริญเติบโต โปแตสเซี่ยมมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชดังนี้
- เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน
- เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสร้าง carbohydrate
- ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของใบและราก
- ช่วยทำให้ cell อิ่มน้ำอยู่เสมอ เพราะโปแตสเซี่ยมช่วยให้รากสามารถดูดน้ำได้ดีขึ้น ดังนั้น พืชที่มีโปรแตสเซี่ยมพอเพียงจึงทำแล้งได้ดีกว่าพืชที่ขาดธาตุชนิดนี้
- ช่วยทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคบางอย่างได้
เมื่อพืชได้รับโปแตสเซี่ยมไม่เพียงพอก็จะแสดงอาการของธาตุชนิดนี้ออกมาให้เห็น แต่จะเด่นชัดหรือมีลักษณะพิเศษเพียงใดย่อมแล้วแต่ชนิดของพืช และความมากน้อยของโปแตสเซี่ยมที่พืชขาด อาการของโปรแตสเซี่ยมที่เกิดขึ้นกับพืชโดยทั่วๆ ไป มีดังนี้
- ขอบใบเริ่มมีสีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยเริ่มต้นจากปลายใบเข้าสู่กลางใบต่อมาส่วนที่เป็นสีน้ำตาลก็จะเหี่ยวแห้งไปซึ่งเรียกกันว่า firing หรือ scorching
- มักจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่ำ เช่นพืชพวกธัญพืชจะให้เมล็ดที่ลีบและมีน้ำหนักเบาผิดปกติ สำหรับพืชที่ให้หัวที่รากจะมีแป้งน้อยและมีน้ำมาก ข้าวโพดจะให้ฝักที่มีเมล็ดไม่เต็มฝัก และฝักจะมีรูปร่างเล็กผิดปกติ ใบยาสูบมีคุณภาพต่ำเพราะติดไฟยากและมีกลิ่นไม่ดี สำหรับพวกไม้ผลจะทำให้สีของผลที่ได้ไม่สู้ดี เนื้อจะฟ่ามไม่แน่น ทำให้ราคาต่ำ
- มักจะอ่อนแอมีความต้านทานโรคน้อย
แคลเซี่ยม (Ca)
เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับพืชสีเขียวทุกชนิด มีสะสมอยู่มากในส่วนที่เป็นใบและลำต้น รากของพืชจะดูดน้ำขึ้นมาจากดินในรูปของ calcium ion (Ca++) แล้วนำมาสร้างสารประกอบชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เชื่อม cell wall ของ cell ของพืชให้ติดต่อกัน นอกจากนี้แคลเซียมยังช่วยเร่งการงอกของรากฝอย ส่งเสริมการเจริญเติบโตของใบและยังเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของดอกอีกด้วย เนื่องจากธาตุนี้เป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนที่ (immobile) เพราะฉะนั้นถ้าพืชขาดก็จะแสดงอาการออกมาที่ยอดของพืชก่อนเสมอ เพราะแคลเซียมจากใบแก่ที่อยู่ข้างล่างไม่อาจเคลื่อนย้ายขึ้นไปชดเชยได้ ดังนั้นยอดและดอกของพืชจะลีบและหงิก ใบอ่อนจะม้วนงอโดยที่ขอบใบทั้งสองข้างจะม้วนเข้าหากัน แต่ปลายใบจะหงิกไปทางด้านหลัง บางครั้งอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นที่ใบด้วย ต่อมายอดจะตายไปเมื่อมียอดแตกออกมาใหม่ก็จะมีอาการอย่างเดียวกันและตายไป
แมกนีเซียม (Mg)
โดยปกติจะมีธาตุแมกนีเซียมอยู่ในพืชน้อยกว่าแคลเซียมและมักสะสมอยู่ในส่วนสำคัญๆ ของพืช เช่น ใบและเมล็ดเป็นต้น แต่มีอยู่น้อยในส่วนที่ทำหน้าที่สะสมอาหาร (storage) เช่น ราก และลำต้น เนื่องจากแมกนีเซียมเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย (mobile) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบพวก chlorophyll ซึ่งมีความสำคัญมากในพืชและทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานของ enzyme ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง protein, carbohydrate, oil และ vitamin ในพืช ดังนั้นพืชที่ขาดแมกนีเซียมจะแสดงอาการที่ใบแก่ก่อนส่วนอื่น โดยสูญเสีย chlorophyll ไปทำให้มีลักษณะเป็นดวงหรือแถบอยู่ระหว่างเส้นใบ (vein) ส่วนสีของเส้นใบนั้นจะยังคงมีสีเขียวเป็นปกติอยู่ แต่ถ้าอาการขาดธาตุนี้มากขึ้นจะค่อยๆ ลุกลามจากใบล่างขึ้นไปถึงใบชั้นบน ใบล่างจะเหลืองและซีดหมดทั้งใบ และในที่สุดทั้งหมดก็จะเหี่ยวตายไป
ซัลเฟอร์ (S)
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบพวกโปรตีนบางชนิด วิตามินบางชนิด และสารประกอบบางชนิดที่มีกลิ่นแรงซึ่งเป็นกลิ่นที่มีคุณสมบัติประจำตัวพิเศษ (mercaptans) เช่นกลิ่นของหอมและกระเทียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลในการควบคุมการเกิดขึ้นของ chlorophyll ส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบรากของพืชและส่งเสริมให้พืชติดเมล็ดดี พืชที่ขาดซัลเฟอร์จะมีใบเหลืองคล้ายๆ กับขาดไนโตรเจน ยอดของพืชจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตลำต้นลีบเล็กอาการที่พืชขาดซัลเฟอร์นั้นผิดกับที่ขาดไนโตรเจนอยู่บ้างคือ พืชที่ขาดไนโตรเจนนั้นจะเหลืองทั้งต้น โดยเฉพาะใบตอนล่างจะเห็นได้ชัดและแห้งตายไปในที่สุด ส่วนพืชที่ขาดซัลเฟอร์นั้นอาการเหลืองมักจะเริ่มต้นที่ส่วนของยอด โดยที่ใบตอนล่างยังเขียวอยู่ไม่เหมือนอย่างพืชขาดไนโตรเจน ที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าธาตุซัลเฟอร์เป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนที่ (immobile)
โบรอน (B)
เนื่องจากโบรอนเป็นธาตุที่เคลื่อนที่ได้ค่อนข้างยาก (immobile) เพราะฉะนั้นเมื่อพืชขาดโบรอนจะแสดงอาการที่ยอดอ่อนของพืช โดยยอดอ่อนจะบิด ใบม้วนงอผิดปกติ นอกจากนี้อาจะเกิดมียอดกิ่งหรือหน่อใหม่ๆ แทงออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็จะแห้งตายไปในไม่ช้า เปลือกของลำต้นจะแตกเป็นร่องและเกิดการสะสมของสารประกอบบางชนิดซึ่งมีส่วนทำให้ท่อส่งน้ำและอาหารตัน อันเป็นเหตุให้ดอกและผลมีรูปร่างบิดเบี้ยว สำหรับพืชที่ให้หัวที่ราก เช่น ผักกาดหัว, กะหล่ำปลี จะมีจุดสีน้ำตาลหรือดำอยู่ภายในส่วนต่างๆ ของพืช แต่ถ้าหากว่าในดินมีโบรอนมากเกินไปรากพืชก็จะได้รับอันตรายจนอาจถึงตาย
แมงกานีส (Mn)
เป็นธาตุที่เคลื่อนที่ได้ง่าย เมื่อพืชขาดธาตุนี้ใบชั้นล่างของลำต้นจะเหลือง (chlorosis) ตามบริเวณระหว่างเส้นใบเนื่องจากขาด chlorophyll ส่วนบริเวณที่ติดกับเส้นใบยังมีสีเขียวเป็นปกติ ลักษณะอื่นโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับการขาดแมกนีเซียมดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
เหล็ก (Fe)
ช่วยกระตุ้นให้พืชสร้าง chlorophyll ดินจะขาดธาตุนี้ก็ต่อเมื่อสภาพของดินไม่เหมาะสม เช่นมีความเป็นด่างมากหรือได้รับปุ๋ย phosphate มากเกินไป เหล็กเป็นธาตุที่เคลื่อนที่ได้ยาก (immobile) ดังนั้น อาการขาดเหล็กมักจะเกิดขึ้นกับส่วนที่ยอดของพืชก่อน ใบที่ยอดจะเล็กผิดปกติและมีสีเหลืองหรือสีขาว การขาดธาตุเหล็กนี้มักเกิดขึ้นกับพวกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มมากกว่าพวกพืชล้มลุกและพืชพวกหญ้า
ทองแดง (Cu)
มีความสำคัญต่อพืชคือ ทำหน้าที่ส่งเสริมให้พืชสร้างวิตามินเอ เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมในขบวนการสร้าง chlorophyll ป้องกันมิให้ chlorophyll ที่สร้างขึ้นแล้วถูกทำลายไปและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญใน enzyme บางชนิดเมื่อขาดธาตุทองแดงใบจะมีสีเขียวเข้มจนผิดสังเกตแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนในที่สุดพืชหยุดชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าขาดทองแดงมากๆ ใบและกิ่งของพืชจะแห้งและร่วง
สังกะสี (Zn)
ในขณะนี้ยอมรับกันว่า สังกะสีมีบทบาทในการสร้าง chlorophyll และการเจริญเติบโตของพืช เมื่อพืชขาดสังกะสีใบจะแสดงอาการขาด chlorophyll ต้นเตี้ยแคระแกรน ใบเล็กผิดปกติ ปล้อง (internode) ของลำต้นและกิ่งก้านอ่อนๆ จะสั้น พืชบางชนิดอาจมีใบขาวซีดเป็นแห่งๆ เรียกว่า mottle leaf ทั้งนี้เนื่องจาก chlorophyll สลายตัวไปจากใบโดยเฉพาะใบที่ได้รับแสงแดดมากๆ
โมลิบดินัม (Mo)
เป็นธาตุสุดท้ายที่คนค้นพบว่ามีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชและเป็นธาตุที่พืชต้องการน้อยที่สุด พืชที่ขาดบ่อยๆ ก็มักเป็นพวกพืชสวนครัว เมื่อพืชขาดโมลิบดินัมขอบใบจะม้วนขึ้นตามบริเวณเส้นใบจะมีบางส่วนเหลือง บางส่วนเขียว เรียกว่า diffuse interveinal mottling ปลายใบมีรอยไหม้โดยเฉพาะใบแก่ ระยะต่อมาใบแก่และใบอ่อนก็จะเหี่ยวและในที่สุดพืชก็จะตายไป
คลอรีน (CI)
หน้าที่ของคลอรีนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพืชขาดธาตุนี้ปลายใบจะเหี่ยวในขณะที่ใบยังอ่อนอยู่ ต่อมาใบจะเหลืองและมีรอยไหม้เป็นดวงๆ ตามบริเวณใบที่เหี่ยว รากเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าได้รับธาตุนี้มากเกินไป ใบจะหนาและม้วนงอ ใบยาสูบมีคุณภาพต่ำ