วิธีปลูกถั่วลันเตา (Sugar Pea)

ถั่วลันเตา

ถั่วลันเตา เป็นพืชผักที่ปลูกค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและยังมีโรคแมลงรบกวนได้ง่าย ถั่วลันเตาชอบอากาศเย็น ดังนั้นจึงปลูกได้เฉพาะช่วงฤดูหนาว ถั่วลันเตาเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกับถั่ว garden pea มาก ซึ่งถั่ว garden pea นี้จะปลูกเอาเมล็ดภายในฝักมาบริโภค โดยทั่วไปจะทำเป็นอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง หรือเมล็ดถั่วแช่แข็งสำหรับถั่วลันเตานั้นทานฝักสด ฝักตอนอ่อนจะมีความหวานมาก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ถั่วลันเตาจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการความชื้นค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ ต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 15 องศา แต่สามารถเจริญเติบโตได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 10 องศา ดังนั้นจะปลูกให้ผลดีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมแต่ปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์

การเตรียมดินและการปลูกถั่วลันเตา ถั่วลันเตามีระบบรากค่อนข้างลึก ดังนั้นจะต้องเตรียมดินให้ลึกประมาณ 20 – 25 ซม. และในขณะที่ย่อยดินควรใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกลงเป็นปุ๋ยรองพื้นด้วย

นิยมปลูกถั่วลันเตา โดยใช้เมล็ดหยอดลงในแปลงปลูกเลย ระยะปลูกที่ใช้คือ 30 – 70 ซม. นำเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกคลุกยากันราก่อนปลูก เช่น ยาออร์โธไซด์ในอัตรา 1 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก. แล้วจึงนำเมล็ดนั้นมาหยอดโดยตรง ลงในแปลงหลุมละ 4 – 5 เมล็ด ให้ลึก 1 – 2.5 ซม. แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอกเก่า จากนั้นใช้ฟางแห้งคลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่มตลอดทุกวัน จนกระทั่งเมล็ดถั่วนั้นงอก มีใบจริง 2 ใบ หรือในระยะนี้ ต้นถั่วจะสูงประมาณ 8 – 10 ซม. ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น ในกรณีที่โรยเมล็ดเป็นแถวก็ถอนแยกให้ระยะปลูกเหลือ 30 – 70 ซม. จำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในแปลงปลูก 1 ไร่ ประมาณ 5 – 7 กก. หรือ 6 – 7 ลิตร

การดูแลรักษาถั่วลันเตา

การปักค้าง เนื่องจากถั่วลันเตาเป็นพืชที่มีลำต้นเลื้อย ดังนั้น เมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน หรือสูงประมาณ 10 – 15 ซม. ต้นถั่วจะเริ่มมีมือเกาะนำไม้ทำค้างขนาด 1.5 – 2 เมตร ปักทำค้าง ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี

  1. ปักไม้ค้างทุกหลุม แล้วเอนปลายมัดด้านบนเข้าหากัน ในกรณีนี้สำหรับปลูกถั่วบนร่อง ร่องละ 2 แถว
  2. ปักไม้ค้างเป็นแถวทุกระยะ 1.5 – 2 เมตร แล้วใช้เชือกขึงตามแนวนอนห่างกันทุก 30 ซม. แล้วเอาเชือกผูกตามขวางสลับไปมาให้ถั่วยึดได้ดีขึ้น

การให้น้ำ ระบบการให้น้ำควรเป็น Furrow System เพราะใบจะได้ไม่เปียก จะช่วยป้องกันโรคทางใบได้มาก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงออกดอกติดฝักอย่าให้ขาดน้ำได้

การให้ปุ๋ย สัดส่วนของ N : P : K = 1 : 1.5 – 2: 1 เช่น ปุ๋ยสูตร 5 – 10 – 5 หรือ 10 – 20 – 10 ในอัตราประมาณ 50 – 100 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นครึ่งหนึ่งและให้ครั้งที่ 2 เมื่อถั่วมีอายุ 1 เดือน  โดยใส่แบบโรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบในระยะนี้ควรทำการกำจัดวัชพืชไปด้วย

การเก็บเกี่ยวถั่วลันเตา โดยทั่วไปอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณ 60 – 90 วันหรือประมาณ 5 – 7 วันหลังจากดอกบาน การเก็บเกี่ยวควรเก็บบ่อยๆ ประมาณ 3 วันครั้ง มักจะเก็บถั่วในแปลงได้นานถึง 1 – 2 เดือน นิยมเก็บตอนเมล็ดในฝักยังลีบเล็กๆอยู่ ระยะนี้ฝักจะอ่อนนุ่ม กรอบไม่พอง ฝักของถั่วลันเตายาวขนาด 6 – 9 ซม. ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 330 – 500 กก./ไร่

โรคและแมลงศัตรูของถั่วลันเตา

โรค ได้แก่ โรคราสนิม โรคราแป้ง โรคโคนเน่า โรคฝักเน่า การป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว

แมลง ที่เข้าทำลายได้แก่ หนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน หนอนคืบกะหล่ำ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ การป้องกันกำจัดเช่นวิธีการเดียวกันกับถั่วฝักยาว

พันธุ์ พันธุ์ถั่วลันเตาที่ปลูกกันได้แก่

  1. พันธุ์แม่โจ้ 1 เป็นพันธุ์เบา ดอกสีขาว ฝักขนาดเล็ก รสหวานกรอบ ปลูกได้ตลอดปี แต่ชอบฤดูหนาว จะเจริญเติบโตได้ดี
  2. พันธุ์แม่โจ้ 2 เป็นพันธุ์หนักกว่าแม่โจ้ 1 ดอกสีขาว ฝักเล็ก ขนาดของฝักยาวกว่า
  3. พันธุ์ฝาเบอร์ 7 เป็นพันธุ์หนัก ขนาดของฝักใหญ่ ดอกสีม่วง ชอบอากาศเย็น ฝักมีรสหวาน กรอบ ปลูกได้ดีในฤดูหนาว

แหล่งผลิตในประเทศไทย ถั่วลันเตาปลูกมากที่สุดที่ภาคเหนือ โดยมีพื้นปลูกประมาณ 7,651 ไร่ ในเขตจังหวัดลำปาง นครสวรรค์ และเชียงใหม่ รองลงมาคือที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 3,586 ไร่ ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์และภาคตะวันตกมีพื้นที่ปลูก 1,064 ไร่ ในเขตจังหวัดนครปฐม และกาญจนบุรี ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกเพียง 609 ไร่ ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี