ขิงแดง เป็นพืชที่มีการปลูกประดับบ้านเรือนมานานแล้ว มีการดูและรักษาง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทั่วไป ขยายพันธุ์ได้ด้วยหน่อ และให้ดอกตลอดปี ขิงแดงมีช่อดอกที่สวยงาม สามารถบานอยู่บนต้นได้นาน และมีรูปทรงของดอกที่แปลกกว่าไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ประกอบกับเมื่อนำมาปักแจกัน พบว่า มีอายุการปักแจกันที่เหมาะสม ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากวิวัฒนาการจากการปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้าน มาเป็นการปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้ามากขึ้น จากข้อมูลการซื้อขายที่ปากคลองตลาดพบว่ามีการซื้อขายขิงแดงเป็นปริมาณ 2,000 ดอก/สัปดาห์ คิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท/สัปดาห์ และยังพบว่ามีการส่งออกบ้าง
แหล่งพันธุ์ที่ผลิตขิงแดง ปัจจุบันจะพบในจังหวัดปริมาณมณฑล ได้แก่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อ.กระทุ่มแบน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และ อ.ท่าม่วง และกิ่ง อ.ด่านมะขายเตี้ย จ.กาญจนบุรี
ข้อมูลทางพฤษศาสตร์ของขิงแดง
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia purpurata (Vieill.) K. Schum.
- ชื่อพ้อง : Alpinia grandis Schum.
- ชื่อสามัญ : ขิงแดง, Red ginger
- วงศ์ : Zingiberaceae
- ถิ่นกำเนิด : ประเทศนิวคาลีโดเนีย, หมู่เกาะโซโลมอน, ประเทศวานาวาตู และพบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 650 เมตร
ลักษณะของขิงแดง
- ต้น ต้นขิงแดงเป็นพืชวงศ์เดียวกับขิงข่า ซึ่งมีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า (rhizome) มีขนาดสั้น แตกสาขาทอดขนานไปกับผิวดิน และเป็นที่สะสมอาหาร เหง้ามีสีแดง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่น เช่นเดียวกับพวกกล้วยส่วนนี้ คือ ลำต้นเทียม (pseudostem) ลำต้นเหนือดินสูง 1-2 เมตร หากสมบูรณ์มากหรือขึ้นอยู่ในธรรมชาติ อาจสูงถึง 5 เมตร ขึ้นอัดแน่นเป็นกอใหญ่
- ใบ เป็นรูปรีบริเวณกลางใบกว้าง แล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลายใบและฐานใบไม่มีก้านใบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งด้านบนและด้านล่างขนาดยาว 20-30 ซม. และกว้าง 5-8 ซม. ปลายใบแหลม ยาว ฐานใบเรียวลาดเข้าหาก้านใบ เห็นเส้นกลางใบ ปรากฏชัดทางด้านล่างาของใบ
- ดอก ช่อดอกจะออกที่ยอดช่อดอกยาวประมาณ 30 ซม. อาจยาวได้ถึง 90 ซม. ประกอบด้วย กลีบประดับเรียบซ้อนกันอยู่ กลีบประดับมีสีแดงสด รูปไข่ ปลายแหลม ขนาดยาว 3-4 ซม. และกว้าง 1.5-2.5 ซม. ดอกแท้เป็นรูปกรวยสีขาวขนาดเล็ก อยู่ภายในกลีบประดับไม่ค่อยเห็นโผล่ออกมาเหนือกลีบประดับ ดอกแท้มักเหี่ยวแห้งไปในเวลาอันรวดเร็ว คงเหลือ แต่ริ้วประดับซึ่งคงมีสีสดอยู่เป็นเวลานานทำให้ขิงแดงมีช่อดอกที่สวยงาม
- ผล ผลของขิงแดง เป็นชนิดแคบซูล ผิวสีแดง ขนาดยาวประมาณ 3 ซม.
- เมล็ด มีสีดำความยาวประมาณ 3 มม. และมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
พันธุ์ขิงแดง
- Red ginger หรือขิงแดงที่มีปลูกอยู่ทั่วไป
- Eileen Mcdonald หรือ ขิงชมพู (Pink ginger) มีกลีบประดับสีชมพู ลักษณะช่อดอกคล้ายขิงแดง
- Jungle King มีกลีบประดับสีแดง ช่อดอกจะมีลักษณะมน อ้วนกว่าขิงแดง
- Jungle Queen มีกลีบประดับสีชมพูจาง ลักษณะช่อดอกคล้าย Jungle King
- Tahitian มีกลีบประดับสีแดง และมักจะมีช่อดอกแขนงจำนวนมาก แตกจากช่อดอกหลัก ทำให้มีลักษณะเป็นช่อใหญ่
- Kimi เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดของขิงชมพู กลีบประดับมีสีชมพูเหลือบแดง สวยงาม ลักษณะช่อดอกคล้ายขิงแดง
การขยายพันธุ์ขิงแดง
- ใช้เมล็ด พบว่าขิงแดงติดเมล็ดได้ยากในประเทศไทย ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยง จะต้องหมั่นสังเกตดอกแห้งถ้าต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ควรเพาะเมล็ดในวัสดุเพาะที่คุณสมบัติเป็นกรดเล็ดน้อยระบายน้ำดี และกลบด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ เวลาการงอกของเมล็ดไม่แน่น แต่งอกเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดธรรมรักษา
- ใช้ตะเกียง (Aerial offshoots) ช่อดอกของขิงแดงเมื่อแก่จะสร้างตะเกียง หรือหน่อเล็ก ๆ ที่โคนกลีบประดับ สามารถแยกตะเกียงออกจากช่อดอกและปลูกได้ทันที แต่ละให้ผลดีถ้าตะเกียงมาชำให้เกิดรากก่อน โดยจะมีการสร้างราก 4-8 สัปดาห์หลังการชำ
- การแยกหน่อ (Division) กิ่งหน่อใหม่จะเกิดที่ส่วนบนของเหง้าของต้นแม่ การแยกหน่อมักทำโดยใช้หน่อที่ไม่แก่เกินไปนัก ให้มีส่วนของเหง้ายาวประมาณ 5 นิ้ว และส่วนของต้นเทียวยาว 8-12 นิ้ว แล้วนำมาปักชำในกระบะชำ หรือถุงพลาสติก
ปัจจัยการผลิตขิงแดง
แสง ขิงแดง เจริญเติบโตและให้ดอกที่มีคุณภาพดีในที่มีร่มเงา ดังนั้น ในการปลูกขิงแดงจำเป็นจะต้องปลูกภายใต้โรงเรือนพรางแสงด้วยซาแรน ซึ่งแสงที่เหมาะสมในการปลูกขิงแดง จะอยู่ประมาณ 50-70 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจปลูกเป็นพืชแซมในสวนไม้ยืนต้นก็ได้
การเตรียมแปลงปลูกขิงแดง
- การเตรียมแปลง มี 2 แบบ คือ
พื้นที่ดอน ทำแปลงแบบทำร่องให้ลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 2-3 ม. ความยาวตามขนาดของพื้นที่ แต่ละแปลงห่างกัน 1.5 เมตร
พื้นที่ลุ่ม การทำแปลงโดยการทำคันร่องขุดคูน้ำลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตร ทำแปลงปลูกกว้าง 1.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ และทำคันขอบแปลงโดยรอบแปลงสูง 20 เซนติเมตร ทำการเตรียมแปลงปลูกโดยไถพรวนตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกผสมแกลบดิน ในแปลงปลูกเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน และใช้ปูนขาวอัตรา 100 กิโล กรัมต่อไร่ เพื่อปรับปรุงดิน - ระยะปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม 1×1 ม. ขิงแดงโดยใช้หน่อพันธุ์ปลูก หลุมละ 1 ต้น หรือใช้หน่อที่ชำจนแตกกอแล้วปลูกหลุมละกอ จากนั้นกลบดินให้แน่น และใช้หลักปัก ผูกติดกับต้น เพื่อไม่ให้ต้นล้ม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การปฏิบัติดูแลรักษาขิงแดง
การให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีมาก เนื่องจากการตอบแทนในการให้ผลผลิตต่อการให้ปุ๋ยเคมีได้น้อย แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีแก่ขิงแดง โดยให้ปุ๋ยสูตรที่มีอัตราส่วน 1:1:1 ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 50 กก./ไร่ ให้ร่วมกับปุ๋ยคอกจะทำให้ขิงแดงให้ดอกดกและมีคุณภาพดอกดีขึ้น
การให้น้ำ ขิงแดงเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในดินสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ วิธีการให้น้ำอาจให้น้ำแบบท่วมแปลงปลูกสำหรับแปลงปลูกที่เป็นที่ดอนโดยให้ 3-5 วันต่อครั้ง ที่ลุ่มให้น้ำโดยการใช้เรือรด 1-2 วัน/ครั้ง หรือโดยสังเกตจากความชื้นดิน
การป้องกันกำจัดวัชพืช วัชพืชจะรบกวนมากในช่วงแรก ๆ เท่านั้นหลังจากอายุ 1 ปี ไปแล้วขิงแดงจะเจริญโตเต็มที่ ทำให้วัชพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้
การตัดแต่ง ส่วนใหญ่จะมีการตัดแต่งต้นพร้อมกับการตัดดอก โดยการตัดดอกชิดโคนต้นเหนือดิน ประมาณ 2-3 นิ้ว
โรคและแมลงของขิงแดง
ไม่พบโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับขิงแดง แต่อาจพบแมลงที่เข้าทำลายดังนี้
- เพลี้ยแป้ง เกิดจากการปลูกขิงแดงใกล้กับแปลงปลูกกล้วยหรือพืชอื่นที่เป็นพืชอาศัยของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยจะเข้าทำลายดอก เกษตรควรใช้วิธีการตัดดอกที่ถูกทำลายทิ้ง หรือสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟูราดาน 3 จี อะโซดริน เดลดริน ฟอสซ์ เป็นต้น
- หนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะลำต้นจะเข้าทำลายโดยกินไส้ของต้นขิงแดงที่ยังไม่ให้ดอกทำให้ยอดแห้งตาย เกษตรกรควรตัดต้นที่ถูกทำลายมาผ่าเอาหนอนที่อยู่ภายในลำต้นมาทำลาย และใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น ฟอสซ์ แลนเนท คาราเต้ เป็นต้น
การเก็บเกี่ยวขิงแดง
โดยตัดดอกที่บานแล้วประมาณ 70-80% ของช่อดอก โดยใช้มีดคม ๆ ตัดโคนต้น เหนือดินประมาณ 2-3 นิ้ว
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวขิงแดง
เมื่อตัดดอกขิงแดงแล้วให้นำดอกแช่ลงในอ่างน้ำที่มีน้ำสะอาดและทำความสะอาด ตัดใบให้เหลือ 3-4 ใบ ตัดก้านให้ยาว 1 ม. สำหรับดอกขนาดใหญ่ และดอกขนาดกลาง ส่วนดอกเล็กมักตัดก้านให้ยาว 50-70 ซม. แล้วนำมามัดเป็นกำ ๆ ละ 10 ดอก สำหรับการคัดขนาดดอกนั้นจะคัดตามขนาด