วิธีปลูกถั่วฝักยาวฝักสีม่วง (Purple Yard Long Bean)
ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีความสำคัญพืชหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมปลูกกันเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ ฝักสีม่วงให้คุณค่าทางโภชนาการ โดยมีปริมาณสารแอนโธไซยานินสูงกว่าถั่วฝักยาวทั่วไป
ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง พันธุ์ชนก 1 มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย การเลื้อยของเถา มีทิศทางการพันทวนเข็มนาฬิกา ต้องปลูกโดยการทำค้างเพื่อพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง และมีกากใยมาก ซึ่งกากใยนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ การใยชนิดที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหาร ทำให้อิ่มเร็ว และยังช่วยให้ขับถ่ายได้ดี
ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ การใยชนิดที่ละลายน้ำ ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร เกิดเป็นสารจำพวกเจลลาตินที่จะไปเคลือบกระเพาะอาหาร และช่วยลดโคเลสเตอรอล ถั่วฝักยาวสามารถใช้ทำอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้ม ผัด แกง จิ้มน้ำพริก
ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง นอกจากจะเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดิน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ระบบรากของพืชตระกูลถั่ว จะมีการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในดิน นับว่าเป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากมายหลายอย่าง
สำหรับ ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง พันธุ์ชนก 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตสูง ฝักยาว มีสีม่วงเข้ม ฝักพองช้า คุณภาพฝักดีตรงตามความต้องการของตลาด เหมาะสำหรับการบริโภคฝักสด และใช้ประกอบอาหาร มีปริมาณสารแอนโธไซยานินสูงกว่าถั่วฝักยาวพันธุ์ทั่วไป ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคราสนิมและโรคใบจุดได้ดี
ลักษณะของดอกถั่วฝักยาวฝักสีม่วง
ถ้าถั่วฝักยาวฝักสีม่วง ออกดอกเป็นช่อเรียก raceme เกิดตามมุมใบ แต่ละช่อมี 2-6 ดอก ก้านดอกย่อยสั้นมาก ซ้อนกันแน่บริเวณปลายช่อดอก แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ชนิดที่เรียกกว่า papilionaceous type ดอกมีขนาด 2-2.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วงเป็นกรวยสั้นหุ้มตรงฐานของดอก
ส่วนปลายกลีบเลี้ยงแยกเป็น 5 กลีบ ตรงปลายกลีบแหลม กลีบดอกมี 5 กลีบสีม่วงถึงม่วงอ่อน กลีบดอกขนาดใหญ่มี 2 กลีบอยู่ชั้นนอก เรียกว่า standards กลีบชั้นในเรียกว่า wings มีอยู่ 2 กลีบ เช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า
สำหรับกลีบดอกชั้นในสุดจะหุ้มรอบเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้เป็นเหมือนกรวยหรือหลอดเรียกว่า Keel เกสรตัวผู้มี 10 อัน โดย 9 อันจะเชื่อมอยู่ติดกันเป็นแผ่นมีลักษณะเป็นหลอดอยู่รอบรังไข่ อีกอันหนึ่งจะแยกเดี่ยวมีก้านชูเกสรตัวผู้เป็นของตนเอง ปลายเกสรตัวผู้จะมีอับเรณูสีเหลือง ส่วนเกสรตัวเมียจะมีรังไข่ 1 อัน รูปร่างยาว ประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนปลายจะมีก้านเกสรตัวเมีย ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ตรงปลายเกสรตัวเมียจะมีตุ่มอยู่ และจะมีขนสีขาวติดอยู่ตอนปลายซึ่งติดอยู่ตลอดความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร
การพัฒนา พันธุ์ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง พันธุ์ชนก 1
1. การผสมระหว่างสายพันธุ์
แหล่งพันธุกรรมใช้ถั่วฝักยาวสายพันธุ์ 157 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งมีฝักยาวสีม่วงเข้ม ผลผลิตปานกลางและใช้ถั่วฝักยาวสายพันธุ์ 89 เป็นสายพันธุ์พ่อ ซึ่งมีฝักสั้น สีม่วงอ่อน ผลผลิตสูง ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคราสนิมและโรคใบจุดได้ดี ทำการผสมระหว่างสายพันธุ์แม่และพ่อ
โดยลักษณะถั่วฝักยาวฝักสีม่วง จะออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 35-40 วันหลังปลูก ดอกจะบานในตอนเช้าแล้วหุบในตอนบ่าย หลังจากนั้นก็จะเหี่ยวร่วงหลุดไป เหลือแต่ส่วนของฝักถั่วที่โตขึ้นเรื่อย ๆ เกสรตัวเมียจะยอมรับการผสมเกสรก่อนดอกบาน 1 วัน จนถึงช่วงดอกบานแล้วหุบในช่วงบ่าย วัสดุอุปกรณ์สำหรับการผสมเกสรถั่วฝักยาว ได้แก่ ปากคีบปลายแหลม ป้ายบันทึกการผสมเกสร แอลกอฮอล์ 70% สำหรับทำความสะอาดเครื่องมือ กรรไกรหรือมีด สำลีสำหรับใช้คลุมดอกป้องกันการผสมข้ามโดยแมลง
การเตรียมดอกตัวเมีย ทำในตอนบ่ายก่อนผสม 1 วัน เลือกดอกตูมที่กำลังจะบานในวันรุ่งขึ้น ใช้ปากคีบปลายแหลมกรีดกลีบดอกครึ่งดอก จนถึงกลีบดอกชั้นในที่หุ้มรอบเกสรตัวเมียและตัวผู้อยู่ไม่ให้โดยเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้อับเรณูแตก ใช้ปากคีบดึงเกสรตัวผู้ทั้ง 10 อันออกทิ้ง จากนั้นใช้สำลีคลุมดอก ควรจุ่มปากคีบในแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อเริ่มเตรียมดอกใหม่ ควรใช้ดอกสำหรับผสมข้ามประมาณ 2 ดอกต่อช่อ
การเตรียมดอกตัวผู้ ทำการเก็บดอกตัวผู้ในตอนเช้าของวันผสม โดยเลือกเก็บดอกที่กลีบดอกเพิ่งจะเริ่มบานมาใช้ผสมได้เลย สามารถเตรียมดอกตัวผู้โดยใช้นิ้วมือหรือปากคีบดึงกลีบดอกชั้นนอกและชั้นกลางออกให้เหลือแต่ชั้นใน แล้วบีบกลีบดอกชั้นในสุดที่เป็นเหมือนหลอดหุ้มเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้เพื่อให้ละอองเกสรตัวผู้สีเหลืองเข้มตรงปลายหลอดติดอยู่ภายในส่วนของดอกชั้นในสุด สามารถผสมเกสรโดยการนำกลีบดอกส่วนนี้ไปครอบลงบนยอดเกสรตัวเมีย ถ้าต้องการเก็บดอกตัวผู้ไว้ใช้ผสมในวันรุ่งขึ้น ให้เก็บในตอนบ่าย แล้วบรรจุในถุงพลาสติกและไว้ในที่เย็น
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสรถั่วฝักยาวอยู่ระหว่าง 7.00-10.00 น. นำดอกตัวผู้ที่จะใช้เป็นแหล่งของละอองเกสรที่บานในเช้าวันผสม มาป้ายตรงส่วนปลายของเกสรตัวเมียของดอกที่ได้ดึงเอาเกสรตัวผู้ออกหมดแล้ว ซึ่งดอกตัวเมียได้ทำการเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนบ่ายเมื่อวาน
ก่อนผสมให้ดึงสำลีที่คลุมเกสรตัวเมียออกแล้วผสมเกสร หลังจากนั้นคลุมดอกไว้เหมือนเดิมด้วยสำลี หรืออาจใช้เพียงส่วนของกลีบดอกชั้นในสุดครอบยอดเกสรตัวเมียเท่านั้น เพื่อป้องกันการผสมเกสรข้ามที่ไม่ต้องการ เขียนรายละเอียดของคู่ผสม พร้อมวัน เดือน ปี ลงบนป้ายบันทึกการผสมแล้วนำไปคล้องไว้ที่ก้านดอกย่อย หลังการผสมแล้ว 1-2 วัน กลีบดอกจะเหี่ยวและหลุด เหลือเฉพาะส่วนของกลีบเลี้ยง ถ้าผสมติดฝักถั่วสีเขียวอมม่วงขนาดเล็ก ๆ จะปรากฏให้เห็นและมีการเจริญเติบโตของฝักต่อไป
2. การคัดเลือกสายพันธุ์ลูกผสม
การคัดเลือกสายพันธุ์ลูกผสมถั่วฝักยาวฝักสีม่วง พันธุ์ชนก 1 ทำการคัดเลือกสายพันธุ์แบบบริสุทธิ์โดยคัดเลือกต้นถั่วฝักยาวที่มีลักษณะตรงตามต้องการมาหลาย ๆ ต้น ดูลักษณะเป็นรายต้น นำเมล็ดจากแต่ละต้นที่เลือกได้ไปปลูกแบบต้นต่อแถว ตรวจสอบเปรียบเทียบลักษณะระหว่างสายพันธุ์ลูกผสมที่ปลูก
เมื่อเลือกแถวใดก็เลือกต้นที่ดี ๆ ในแถวอีกครั้ง เก็บเมล็ดของแต่ละสายพันธุ์แยกกัน ในชั่วรุ่นต่อไปทำการปลูกเป็นแปลง แล้วทำการคัดเลือกสายพันธุ์จากแต่ละแปลง
จากนั้นปลูกเหมือนเดิมและคัดเลือกหลายครั้ง จนไม่อาจบอกความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ถั่วฝักยาวด้วยสายตา ทำการปลูกคัดเลือกและเปรียบเทียบถั่วฝักยาวสายพันธุ์ดีกับสายพันธุ์พ่อแม่ จนได้ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง พันธุ์ชนก 1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตสูง ฝักยาว สีม่วงเข้ม พองช้า คุณภาพฝักดีตรงตามความต้องการของตลาด เหมาะสำหรับการบริโภคฝักสด และใช้ประกอบอาหาร ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงมีปริมาณสารแอนโธไซยานินสูงกว่าถั่วฝักยาวทั่วไป ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคราสนิมและโรคใบจุดได้ดีและสามารถปลูกได้ตลอดปี
ลักษณะของฝักถั่วยาวพันธุ์ชนก 1 ฝักมีสีม่วงเข้ม ปลายฝักมน ผิวฝักเรียบ ฝักมีความยาวเฉลี่ย 55-65 เซนติเมตร ขนาดฝักกว้าง 0.98 เซนติเมตร เมล็ดอยู่ภายในฝักจะมีลักษณะคล้ายไตมีสีน้ำตาลแดงเข้ม และมีน้ำหนัก 100 เมล็ด เท่ากับ 16.40 กรัม โดยจะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์
หลังจากเมล็ดงอก 35 วัน และมีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน โดยฝักสดให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000-2,800 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผลผลิตประมาณ 30-40 ฝักต่อต้น น้ำหนักฝักประมาณ 23 กรัม ความหนาเนื้อฝักประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ฝักยาว สีม่วงเข้ม หวานกรอบ พองช้า คุรภาพดี เหมาะสำหรับการบริโภคฝักสด และยังมีปริมาณสารแอนโธไซยานินสูงกว่าถั่วฝักยาวพันธุ์ทั่วไป
การปลูกถั่วฝักยาวฝักสีม่วง
ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ต้องการแสงแดดตลอดวัน ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ชุก แต่ถ้าอากาศร้อนอุณหภูมิสูงเกินไปหรือฝนตกชุก จะทำให้ดอกร่วงและฝักร่วง
ถ้าอากาศหนาวเกินไปมักจะชงักการเจริญเติบโต เนื่องจากระบบรากไม่สามารถดูดอาหารจากดินได้ ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง มักให้ผลผลิตและการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้งสูงกว่าในฤดูฝน แต่ในช่วงฤดูฝนหากมีการดูแลรักษาที่ดี คุณภาพของฝักที่ได้จะสมบูรณ์กว่าในช่วงฤดูร้อน
ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในระหว่าง 18-30 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโตในดินแทนทุกชนิด ดินที่เหมาะกับการปลูกคือดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนทราย มีการระบายน้ำได้ดี ไม่เป็นกรดหรือด่าง ดินที่เหมาะสมควรมีสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.0 วิธีการปลูกถั่วฝักยาวฝักสีม่วง สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1. การเตรียมดิน ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อน การเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ การเตรียมดินควรทำการไถ 2 ครั้ง ไถครั้งแรก ควรลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิด เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นไถครั้งที่สอง เพื่อย่อยดิน แล้วทำการยกแปลงปลูก
การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง ถ้าดินที่ค่อนข้างเป็นกรด ควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดของดิน ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น หรืออาจปลูกโดยใช้พลาสติกคลุมแปลงก่อนปลูก ซึ่งจะลดปัญหาเรื่องแรงงานในการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก
2. การปลูก เตรียมเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม นำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอก คัดเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์แข็งแรง และควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย ปลูกเป็นหลุมโดยหยอดเมล็ดลงหลุม หลุมละ 3-4 เมล็ด ฝังดินลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร
ระยะปลูกที่เหมะสมคือ ระหว่างหลุม 80 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร หลังปลูกควรให้น้ำทันที และทำการถอนแยก หลังจากหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 5-7 วัน ซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอก โดยมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำและอาหารจากต้นถั่วฝักยาว
3. การปฏิบัติดูแลรักษา ถั่วฝักยาวฝักสีม่วงการดูแลรักษาที่ดีจะต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมาก มีขั้นตอนการดูแลรักษา ดังนี้
การให้น้ำ
ต้นถั่วฝักยาวฝักสีม่วงเป็นพืชที่ต้องการการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป หลังจากถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 4-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงออกดอกและติดฝัก อย่าให้ขาดน้ำเพราะจะทำให้ดอกและฝักร่วงฝักกระด้าง ในกรณีที่ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ก่อนระยะเก็บเกี่ยว 2 อาทิตย์ ควรงดการให้น้ำ ระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการให้น้ำตามร่อง หรือใช้วิธีการให้น้ำแบบสปริงเกอร์
การให้ปุ๋ย
แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่รองก้นหลุมโดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน โดยการพรวนดินแล้วโรยปุ๋ยรอบ ๆ ต้น ให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วใช้ดินกลบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยสูญเสียไป
การใส่ปุ๋ยร่วมกับปุ๋ยคอกในระยะนี้ จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ครั้งที่ 2 ใส่เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมกับการพรวนดินกำจัดวัชพืช โดยจะทำทุกระยะ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง การใส่ปุ๋ยระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณเพียงพอจะทำให้เก็บถั่วฝักยาวได้นาน โดยผลผลิตมีคุณภาพดี และปริมาณผลผลิตต่อไปไร่สูงขึ้น
การทำค้าง
ถั่วฝักยาวฝักสีม่วง เป็นพืชที่ต้องอาศัยค้าง เพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโตระยะเวลาการปักค้างถั่วฝักยาว จะเริ่มปักหลังจากต้นถั่วฝักยาวงอกแล้ว หรือเริ่มปักค้างเมื่อต้นถั่วอายุมีประมาณ 15-20 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ลำต้นจะเริ่มทยอยยาวและเลื้อย โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พ้นเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา การปักค้างอาจทำได้หลายวิธี ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นนิยมใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่าย โดยความยาวของไม้มีความยาวประมาณ 2.5-3 เมตร วิธีการปักค้างทำได้หลายวิธี เช่น
- ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้างให้ตั้งฉากกับผิวดิน
- ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหาร่องเป็นคู่และมัดปลายเข้าด้วยกันใช้ไม้ไผ่ผาดยึดค้างด้านบนให้แข็งแรง
- ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหากันกลางร่องเป็นคู่ แล้วมัดปลายเช่นเดียวกับข้อ 2 แต่ใช้ไม้ค้ำยันแต่ละคู่เป็นแบบกระโจม
- ปักไม้ค้างผสมกับการใช้เชือก มีผู้ปลูกฝักยาวพยายามใช้เชือกแทนค้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงเพื่อลดต้นทุนการผลิต
การกำจัดวัชพืช
หลังจากต้นถั่วฝักยาวงอกแล้ว ต้องคอยดูแลกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก โดยทั่วไปแล้ว จะกำจัดวัชพืชหลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน หรือก่อนที่จะปักค้าง หลังจากนั้นจึงคอยสังเกตจำนวนวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด และเมื่อต้นถั่วฝักยาวเจริญเติบโตคลุมแปลงแล้ว จะทำให้การแข่งขันของวัชพืชลดลงในการกำจัดวัชพืชในระยะที่ถั่วฝักยาวเริ่มออกดอกนั้น ต้องเพิ่มควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนรากอันเป็นสาเหตุให้ดอกร่วงได้
การเก็บเกี่ยว
1. การเก็บเกี่ยวฝักสด ถั่วฝักยาวจะเก็บเกี่ยวฝักสดได้หลังจากปลูกประมาณ 50-60 วัน การเก็บฝักสดนั้นอาจจะสังเกตจากลักษณะฝักที่ตรงและมีความยาวเต็มที่ตรงความต้องการของตลาด ควรเลือกเก็บฝักที่ยังไม่พองมีความเรียบสม่ำเสมอ อาจจะนับวันโดยเริ่มจากวันผสมเกสรซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณ 8-10 วันหลังดอกบาน ซึ่งเหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวฝักสด
ปกติแล้วระยะเวลาการให้ผลผลิตของถั่วฝักยาวอยู่ในช่วง 1 เดือน หรืออาจเก็บได้ประมาณ 20 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา วิธีการเก็บฝักสดโดยใช้มือเด็ดหรือใช้กรรไกรตัดขั้วฝัก ระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุดเสียหาย เพราะจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต
ลักษณะการเก็บให้ทยอยเก็บทุก ๆ 2 วัน โดยไม่ปล่อยให้ฝักแก่ตกค้าง และหลังจากเก็บเกี่ยวถั่วฝักยาวแล้วให้นำเข้าร่มทันที ไม่ควรวางไว้กลางแดด นำลงบรรจุในภาชนะ การบรรจุนั้นไม่ควรบรรจุปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้ผลผลิตบอบช้ำเสียหายได้
2. การเก็บเมล็ดพันธุ์ เมื่อต้องการเก็บเมล็ดไว้ใช้ทำพันธุ์ ควรเลือกจากต้นที่มีลักษณะลำต้นและทรงพุ่มตามพันธุ์ให้ฝักดก ฝักสีม่วงเข้มและยาว เป็นต้นถั่วที่สมบูรณ์ การปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ควรปลูกในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายนจะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ และผลผลิตสูงกว่าการปลูกในฤดูอื่น ๆ ไม่ควรปล่อยให้ฝักของถั่วฝักยาวแห้งคาต้น
พอฝักเริ่มเปลี่ยนสีและพองตัวก็สามารถเก็บตากเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป ถ้าปลูกในฤดูฝน การเก็บเมล็ดพันธุ์จะมีความยุ่งยากเพราะถ้าปล่อยให้ฝักแห้งคาต้น เมล็ดในฝักจะงอกหรือเกิดเชื้อราทำลายเมล็ด ฉะนั้นควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสมคือ เก็บฝักที่แก่มีสีม่วงจาง อายุมากกว่า 60 วันขึ้นไป นำมาแขวนไว้ในโรงเรือนหรือที่โล่งแจ้ง หรือตากแดดแล้วใส่กระสอบทุบเบา ๆ ให้เมล็ดแยกออกจากฝัก คัดเมล็ดเอาสิ่งเจือปนออก
ตากแดดอีกประมาณ 1-2 วัน เพื่อลดความชื้นให้แห้งสนิท ระหว่างที่ตากควรป้องกันการวางไข่ของตัวมอดหรือด้วงที่จะมาวางไข่ตามผิวของเมล็ด แล้วจะฟักเป็นตัวหนอนเจาะเข้าไปกินภายในเมล็ด เมื่อทำความสะอาดและแห้งสนิทดีแล้ว จึงนำไปบรรจุในกระป๋องหรือถุงพลาสติกเก็บเข้าห้องเย็นหรือตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ทำพันธุ์ได้ประมาณ 1-2 ปี