วิธีปลูกตะไคร้ (Lemongrass)

ตะไคร้

ตะไคร้ ทั้งใบและต้นของนั้น นำมาใช้ประกอบอาหารเป็นเครื่องปรุงรสของชาวเอเชีย คนไทยใช้ผสมอาหารในการทำพล่า ต้มยำ และใช้ปรุงเครื่องแกงหลายชนิด นอกจากนั้นตะไคร้ยังจัดเป็นสมุนไพรใช้ในการทำยารักษาโรค เช่น ยาขับปัสสาวะ ต้นใช้ต้มรับประทานแก้โรคไต ในตะไคร้นั้นหากนำมาหั่นฝอยตากแห้งใช้ชงดื่มกับน้ำร้อนในลักษณะของน้ำชา เรียกว่า ชาตะไคร้ รับประทานแก้นิ่วและไตพิการ

ตะไคร้เป็นพืชตระกูลหญ้า มีใบและลำต้นคล้ายหญ้าคา ปลูกขึ้นในดินทุกชนิด ในกรณีที่ปลูกตามคันดินหรือริมตลิ่ง จะช่วยการพังทลายของดิน (Soil erosion) ใบตะไคร้สามารถนำมาเป็นวัสดุคลุมผิวดินได้ผลดีเช่นเดียวกับฟางแห้ง คือใช้เป็น mulching นั่นเอง ในด้านอุตสาหกรรมสามารถนำตะไคร้มาสกัดเอาน้ำมัน เรียก Andropogon oil ซึ่งเป็นน้ำมันหอมใช้นำผสมในสบู่ ผงซักฟอก และสังเคราะห์เอาวิตามิน เอ ได้

ตะไคร้ที่ปลูกกันอยู่ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. ตะไคร้กอ (Cymbopogon citratus) พบว่ามีสีม่วงแกมเขียวที่กาบใบนอกกลิ่นดับคาวได้ดี ใช้เป็นสมุนไพรใช้แก้เบื่ออาหาร ชงเป็นน้ำชาแก้นิ่ว เป็นตะไคร้ที่นิยมปลูกมากในประเทศไทย ปลูกแล้วแตกเป็นกอใหญ่ๆ ใบสั้น
  2. ตะไคร้แดง (Cymbopogon nardus) เป็นตะไคร้ที่มีกลิ่นฉุนจัด ขึ้นเป็นกอใหญ่คล้ายตะไคร้กอ กาบใบสีม่วง หัวตะไคร้สีแดง ใบยาวกว่าตะไคร้กอ ออกดอกคล้ายดอกอ้อน้ำมันที่สกัดจากตะไคร้ชนิดนี้ติดไฟได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัว หรือริมทางเพราะเป็นเชื้อไฟลุกไหม้ง่าย น้ำมันใช้ผสมทำน้ำหอม ใส่ผสมกับน้ำมันใส่ผม และยังสามารถใช้ไล่ยุงได้ด้วย เคยปลูกมากในจังหวัดชลบุรี แถบศรีราชา จังหวัดจันทบุรี และที่จังหวัดกำแพงเพชรและนครราชสีมาเคยปลูกตะไคร้ชนิดนี้เพื่อสกัดเอาน้ำมัน Citronella oil บางครั้งชาวบ้านเรียกตะไคร้ชนิดนี้ว่าตะไคร้ยาว
  3. ตะไคร้หอม (Citronells sp.) เป็นพันธุ์ที่นำมาจากอินเดีย เคยปลูกเพื่อสกัดน้ำมันแถวสัตหีบมาก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันไม่เป็นที่แน่นอน จึงทำให้การปลูกเพื่อผลิตน้ำมันไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจาก 3 ชนิดนี้แล้วยังพบว่ามีตะไคร้อีกมากมาย ซึ่งปลูกในประเทศพม่า และอินเดีย จีน

ตะไคร้มีกาบใบอัดตัวกันแน่น ทำให้ดูคล้ายลำต้นอยู่เหนือดิน ความจริงแล้วตะไคร้มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นลำต้นสั้นๆ ตะไคร้กอจัดว่าเป็นตะไคร้ที่ปลูกง่ายโตเร็ว ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก จะพบว่าตะไคร้ไม่ค่อยออกดอกทั้งนี้เพราะตะไคร้เป็นพืชที่แตกหน่อมาก ทำให้อาหารสะสมไม่ค่อยพอแก่การออกดอกและขยายพันธุ์ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของประเทศไทยยังไม่เหมาะแก่การออกดอกของตะไคร้ พบว่าเมื่อปลูกที่อื่นจะออกดอกได้ง่ายกว่า เมื่อตะไคร้ออกดอกจะมีกลิ่นน้อยลง การที่จะทำให้ตะไคร้มีอาหารสะสมเพียงพอเพื่อให้ต้นอ้วน กระทำได้โดยแยกหน่อออกไปปลูก และตัดใบของตะไคร้ให้สั้นลงบ้าง

การปลูกและการดูรักษาตะไคร้

การเตรียมดิน ควรขุดดินลึกประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร และย่อยดินให้ละเอียดปานกลาง ควรใส่ปุ๋ยเทศบาลเป็นปุ๋ยรองพื้นลงในดินก่อนปลูก การปลูกควรขุดหลุมลึกประมาณ 4 นิ้ว อาจปลูกหลุมละ 1 ต้นหรือ 4 ต้นก็ได้ โดยต้นที่เอามาปลูก ควรตัดใบออกให้ต้นเหลือความสูงประมาณ 12 – 16 นิ้ว การปักต้นลงควรจัดให้เอนออกจากปากหลุม จะแตกกอได้ดีกว่าเอาดินกลบหลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ระยะปลูกของตะไคร้มีผลต่อการเจริญเติบโตและการแตกกอ หากใช้ระยะปลูก 50 – 75 เซนติเมตร จะได้จำนวนต้นต่อกอสูง หากปลูกเป็นไร่เพื่อสกัดทำน้ำมัน ควรใช้ระยะ 20 – 75 เซนติเมตร หรือ 40 – 75 เซนติเมตร จะให้ผลผลิตสูงที่สุด

การให้ปุ๋ย พบว่าไม่จำเป็นเท่าใดนักที่จะให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์กับตะไคร้ หากจะใช้ในกรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใช้ปุ๋ยสูตร 5 – 10 – 35 ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

การให้น้ำ ควรรดน้ำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนหน้าเก็บเกี่ยวควรรดน้ำให้พอเพียงสัก 1 – 2 สัปดาห์ จะเพิ่มผลผลิตได้ดีมาก

การเก็บเกี่ยวตะไคร้

อายุการเก็บเกี่ยวของตะไคร้ประมาณ 4 เดือน โดยดูจากการเจริญเติบโต กล่าวคือ จะมีใบใหม่แตกออกมา ใบล่างๆ จะแห้ง การเก็บเกี่ยวเอาน้ำมันจะตัดเอาทั้งต้นทั้งใบ โดยใช้มีดตัดชิดโคนใบล่าง อย่าใช้มือถอน ต่อมาจะแตกกออีก และจะเก็บได้ครั้งที่ 2 ต่อไป จะเก็บได้อย่างช้าที่สุด 2 ปี ผลผลิตแต่ละครั้งที่ได้ประมาณ 1 ต้นต่อไร่ ภายใน 1 ปี ผลผลิตจะได้ประมาณ 4 ต้นต่อไร่

สำหรับแมลงศัตรู พบว่ามีเพลี้ยแป้งทำทำลายตามใบบ้าง แต่ไม่กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตแต่อย่างใด สำหรับโรคไม่พบโรคอะไรที่ระบาดทำอันตรายแก่ต้นตะไคร้