วิธีปลูกกล็อกซีเนีย (Gloxinias)

กล็อกซีเนีย

กล็อกซีเนีย เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่ง ที่นิยมปลูกเป็นไม้กระถางประดับภายในบ้านเรือน มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sinningia speciosa อยู่ในตระกูล Gesneriaceae

กล็อกซีเนีย มีต้นขึ้นเป็นกอสูงประมาณ 15 เซนติเมตร แตกขึ้นจากหัวซึ่งมีหน้าที่สะสมอาหาร ถ้าปลูกจากเมล็ดหรือจากการชำใบ หัวนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง (Bell-shaped) สวยงามมาก ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้ว ก้านดอกยาวชูดอกขึ้นเหนือระดับต้นและใบ ทำให้เห็นดอกเด่นขึ้นปริมาณของดอกที่บานในคราวหนึ่งอาจจะมีตั้งแต่ 1-12 ดอก ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์และความสมบูรณ์ของต้น

จากการผสมและคัดพันธุ์ ทำให้ได้สีสวย ๆ และแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สีของดอกกล็อกซีเนียที่มีอยู่ขณะนี้ก็มีสีชมพูอ่อน ชมพูแก่ สีขาว สีม่วงอ่อน ม่วงแก่ สีน้ำเงิน น้ำเงินขอบขาว แดงขอบขาว ม่วงประจุด และ ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากจะมีดอกสวยงามแล้ว กล็อกซีเนียยังมีใบที่สวยมากอีกด้วย ใบของกล็อกซีเนียมีรูปร่างเป็นรูปไข่ ขอบใบหยัก ใบหนามีสีเขียวเข้ม มีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ ขนาดของใบแตกต่างกันตามพันธุ์และความอุดมสมบูรณ์ของต้น บางพันธุ์ยาวถึง 14 นิ้ว กว้าง 10 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตามทั้งใบและดอกของกล็อกซีเนียมีลักษณะสวยงามมาก ทั้งมีขนาดได้สัดส่วนสวยสะดุดตาผู้ที่ได้พบเห็น จึงเหมาะสำหรับปลูกประดับภายในบ้านเรือนเป็นอย่างยิ่ง

มีการนำกล็อกซีเนียจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาปลูกทดลองเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว ปัญหาที่พบในครั้งนั้นก็เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากเครื่องปลูก และการปฏิบัติรักษา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบดต การบานของดอกและอื่น ๆ อีกหลายประการ ปัญหาที่พบ คือ

  1. ต้นอ่อนเน่า อันเนื่องมาจากเชื้อวิสาที่ติดมากับหัว
  2. โคนต้นเน่า เนื่องจากรดน้ำและเครื่องปลูกไม่ดี
  3. ใบและก้านดอกเน่า เนื่องจากการรดน้ำถูกต้นและใบ

มีการนำกล็อกซีเนียมาทดลองปลูก โดยใช้เครื่องปลูกสูตรใหม่ คือ ใบก้ามปูหมัก 1 ส่วน พีทมอส 1 ส่วน และทราย 1 ส่วน ปฏิบัติรักษาถูกวิธี ผลการทดลองปรากฎว่าได้ผลดีเกินคาด

พันธุ์กล็อกซีเนียที่ใช้ปลูก

  1. พันธุ์ Discoverer ดอกสีแดง
  2. พันธุ์ Minnteman ดอกสีแดง
  3. พันธุ์ Titan ดอกสีแดง
  4. พันธุ์ Marbott’s Pink ดอกสีชมพู
  5. พันธุ์ Polaris ดอกสีน้ำเงิน
  6. พันธุ์ Bavaria ดอกสีน้ำเงินคอขาว
  7. พันธุ์ Skyblue ดอกสีม่วง
  8. พันธุ์ Brunhilde ดอกสีขาว
  9. พันธุ์ Buells Giant Hybrids มีหลายสี

พันธุ์กล็อกซีเนียทั้ง 9 พันธุ์ ที่กล่าวมานี้เป็นพันธุ์ที่มีดอกชั้นเดียว ยังมีพันธุ์ดอกซ้อน (double) อีกเช่นพันธุ์ Blue Chips, Monte Cristo, Royal Flush, White Knight และ ฯลฯ

การขยายพันธุ์กล็อกซีเนีย

1. ใช้ใบปักชำ (leaf cutting) ใบที่ใช้ในการนี้ไม่ควรจะแก่และอ่อนจนเกินไป การตัดควรจะตัดก้านใบให้ชิดลำต้นให้มากที่สุด วัตถุที่ใช้การปักชำอาจจะใช้เช่นเดียวกับเครื่องปลูก หรือใช้ทรายก็ได้เวลาชำพยายามอย่าให้ขอบใบชิดกันเพราะจะทำให้เน่า ให้น้ำทางก้นกระถาง (sub-irrigation) โคนก้านใบจะเริ่มฟอร์มเป็นหัวและราก พร้อมทั้งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด เมื่อหัวใหญ่ขึ้นและมีรากมากพอสมควร ใบก็จะเหี่ยวแห้งไปในขณะเดียวกันยอดของต้นใหม่ก็จะเริ่มแตกออกมา พอได้ต้นโตพอสมควรคือใบประมาณ 4 ใบก็ย้ายปลูกในกระถาง 4 นิ้ว ต่อไป

2. ใช้หัวปลูก ภายหลังจากต้นให้ดอกแล้วต้นก็จะโทรม จึงงดการรดน้ำ รอจนกระทั่งต้นและใบเหี่ยวแห้งตายไปจะเหลือแต่หัวกล็อกซีเนียอยู่ในดิน ถ้าตัดต้นและใบทิ้งแล้วรดน้ำต่อไป หัวนี้ก็จะแตกเป็นต้นใหม่ แต่จะให้ดีควรเก็บหัวขึ้นมา ผึ่งลมไว้สัก 2-3 วัน แลัวตัดรากทิ้ง ถ้าต้องการจะปลูกใหม่ทันทีควรจะชำไว้ในกระบะใส่ทรายหยาบให้น้ำชื้นพอสมควร ข้อควรระวังในการชำหัวนี้คือ ชำหัวลึกเพียง 1 ใน 3 ของหัว และควรย้ายหัวปลูกเมื่อยอดที่แตกใหม่มีใบประมาณ 4-6 ใบ

3. ใช้เมล็ดปลูก หว่านเมล็ดลงในกระบะเพาะก่อนโดยใช้เครื่องปลูกเป็น medium ระวังอย่าให้เครื่องปลูกแฉะเกินไป การให้น้ำให้แบบ sub-irrigation ก่อนที่เมล็ดจะงอกควรใช้กระจกหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดกระบะชำ เพื่อช่วยรักษาความชื้นแฉะให้งอกเร็วขึ้น เนื่องจากเมล็ดกล็อกซีเนียมีขนาดเล็กมาก ต้นอ่อนจึงขึ้นเบียดกันแน่นมาก ฉะนั้น ควรจะแยกปลูกให้กระถางหมู่สักสองระยะก่อนที่จะย้ายปลูกในกระถาง 4 หรือ 5 นิ้ว การให้น้ำควรให้ทางก้นกระถางและไม่แฉะเกินไปเพราะจะทำให้ต้นเน่า

วิธีปลูกกล็อกซีเนีย

ก. เครื่องปลูก เครื่องปลูกที่ทางแผนกใช้ได้ผลดีที่สุด คือ ใช้ทราย ใบก้ามปูหมัก พีทมอส ในอัตราส่วน 1:1:1 แต่เนื่องจากพีทมอสมีราคาค่อนข้างแพงและหาซื้อได้ยาก จึงได้มีการทดลองหาวัตถุอื่นแทนพีทมอส โดยพยายามจะใช้วัตถุที่หาง่าย และมีอยู่แล้วในบ้านเรา พบว่าปุ๋ยมะพร้าวใช้แทนพีทมอสได้ดีมาก และที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับเครื่องปลูกกล็อกซีเนียก็คือ จะต้องร่วนซุยโปร่ง และมีอินทรีย์วัตถุมาก อบหรือคั่วทำลายแมลง เชื้อโรค และเมล็ดวัชพืชที่มีอยู่ pH ประมาณ 6

ข. การปลูก ปลูกในกระถาง 4-5 นิ้ว ไม่ควรใช้กระถางโตกว่านี้ เพราะจะแฉะมากเกินไป เวลาปลูกใส่ทรายหยาบรองก้นกระถางประมาณ 1 นิ้ว แล้วเติมเครื่องปลูกที่ผสมน้ำชื้นพอสมควร (ไม่ถึงกับเปียก) ลงไปจนเต็มกระถาง (เติมแบบหลวม ๆ) แล้วจึงปลูกต้นกล้าลงไป เมื่อปลูกเสร็จแล้วไม่ควรจะกดดินตรงโคนต้นดังเช่นปลูกต้นไม้อื่น ๆ แต่ควรจะกระแทกก้นกระถางลงกับพื้นเพียงเบา ๆ ให้ดินยุบลงนิดหน่อย แล้วหยอดน้ำตรงโคนต้นให้ดินกระชับโคนต้นและราก ระยะการให้ดอกนับจากวันย้ายปลูก ถ้าปลูกจากหัวใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง และปลูกจากเมล็ดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากการทดลองพบว่า ปลูกจากหัวจะให้ปริมาณดอกมากและคุณภาพดีกว่าปลูกจากเมล็ด แต่การปลูกจากเมล็ดปฏิบัติรักษาได้ง่ายกว่าจากหัว เพราะปลูกจากหัวหากให้น้ำมากไปเพียงนิดเดียว หัวก็จะเน่า เป็นต้น

การดูแลรักษากล็อกซีเนีย

ก. แสง แสงเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในการปลูกกล็อกซีเนีย เพราะถ้ากล็อกซีเนียได้แสงสว่างมากเกินไปจะทำให้ต้นสูงเก้งก้าง นอกจากนั้นแล้วยังให้ดอกเร็ว ทำให้ได้ดอกเล็ก เพราะต้นยังไม่โตและไม่สมบูรณ์พอ แต่ถ้าได้แสงน้อยเกินไปก็จะทำให้ได้ดอกช้า ก้านดอกยาวอ่อนล้มง่ายไม่แข็งแรง ฉะนั้น จึงควรปลูกกล็อกซีเนียในที่ที่มีแสงสว่างพอสมควร ไม่ควรให้ถูกแสดงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้ใบไหม้และต้นเหี่ยว ถ้าปลูกตามชายคาบ้านควรจะปลูกทางด้านทิศตะวันออก และทางใต้จะได้ผลดีที่สุด ถ้าปลูกทางทิศอื่น เช่น ทางทิศตะวันตกก็ควรจะบังร่มหรือหาทางลดแสงลงบ้างก็จะช่วยให้กล็อกซีเนียเจริญเติบโตได้ดี

ข. อุณหภูมิ ที่เหมาะที่สุดประมาณ 75 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน มันสามารถจะยืดหยุ่นตามแฟคเตอร์อื่นได้ เช่น อุณหภูมิสูงเกินไปเราก็แก้โดยระบายอากาศถ่ายเทความร้อน และเพิ่มความชื้นในบรรยากาศก็จะลดอันตรายอันจะเกิดขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิได้

ค. การให้น้ำ ไม่ควรรดน้ำถูกใบและต้น เพราะจะทำให้เน่า ควรจะให้น้ำทางก้นกระถาง (sub-irrigation) หากไม่สะดวกที่จะให้น้ำทางก้นกระถางได้ก็จงรดเฉพาะดินจริง ๆ อย่าให้น้ำมากเกินไป ควรจะปล่อยให้ดินปลูกแห้งบ้างเป็นครั้งคราว ต้นไม้ส่วนมากมักจะทนแล้งได้ดีกว่าน้ำขัง

ง. การให้ปุ๋ย พบว่า การให้ปุ๋ยทางใบ โดยใช้ปุ๋ย Ra-pid Go (23:19:17) ในอัตราส่วน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดแบบพ่นฝอย (spray) ทุกอาทิตย์ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเริ่มมีดอกตูม

ปัญหาที่พบในการปลูกกล็อกซีเนีย

ถ้าได้ใช้เครื่องปลูกที่มีคุณสมบัติดังได้กล่าวมาในข้างต้น และได้อบหรือคั่วก่อนปลูก ทั้งได้รับการปฏิบัติรักษาที่ถูกวิธี มีการฉีดปุ๋ยทุกอาทิตย์ เชื่อเหลือเกินว่าจะประสบผลสำเร็จแน่นอน แต่อาจจะพบปัญหาทางโรคและแมลงบ้าง เช่น

โรค

  • โรคโมเสค ป้องกันโดยกำจัดแมลงที่เป็นสื่อนำโชค เมื่อพบต้นที่เป็นโรคควรทำลายเสีย ขยายพันธุ์ จากต้นที่ปราศจากโรค
  • โรคมิลดิว ป้องกันและกำจัดโดยพ่นด้วย sulfur

แมลง

  • เพลี้ยแป้ง กำจัดโดยฉีดนิโคตีนซัลเฟต หรือ มาลาไธออน ตาม direction ที่ติดไว้ข้างกระป๋อง
  • เพลี้ยไป ฉีดด้วย DDT หรือ อื่น ๆ