วิธีปลูกเยอบีร่า (Gerbera)
เยอบีร่า แต่เดิมทีมีที่กำเนิดในแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอยู่ 40 ชนิด เนื่องจากดอกมันมีลักษณะคล้ายดอกเดซี่ จึงมีคนเรียกว่า บาร์เบอร์ตัน เดซี่ หรือ ทรานสวาล เดซี่ แต่ที่แน่ ๆ ที่เรารู้จัก ก็เรียกว่า “เยอบีร่า” ที่ชื่อนี้ก็เพราะตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Traugott Gerber โดยเอาชื่อหลังมาตั้งเป็นชื่อดอกไม้ชนิดนี้
เยอบีร่า มีอยู่หลายประเภท แต่สามารถรวมกันแล้วแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทอเมริกัน (American Strain) ซึ่งมีดอกชั้นนอกเรียวยาว เดี๋ยวนี้ก้าวหน้าไปถึงขั้นมีดอกชั้นเดียวและดอกซ้อนสีสดใสกว่าเดิมเสียอีก
ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้น เป็นพวก “ยุโรป” (European Strain) กลีบดอกกว้าง ป่องตรงกลางนิด ๆ ดอกหนากว่า และก้านดอกแข็งแรง ปักแจกันได้ทนทานกว่าของอเมริกัน ทำให้เมล็ดมีราคาแพง นิยมปลูกเป็นไม้ตัดออกขายในยุโรป
ทีนี้ก็มาถึง ไทย (Thai Strain) พันธุ์ของไทยเราไม่เหมือนเยอบีร่าอเมริกันและยุโรป เพราะดอกของเราจะซ้อนหนามาก มีความสวยงามลึกซึ้งกว่าและนุ่มนวลกว่า แม้ว่าสีจะไม่ฉูดฉาดบาดตาเช่นสีของยุโรปก็ตามที
การขยายพันธุ์เยอบีร่า
เยอบีร่า สามารถจะขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
1. ปลูกโดยใช้เมล็ด เมล็ดของเยอบีร่ามีลักษณะโค้งงอนิด ๆ คล้ายรูปเคียวตื้น ๆ ยาวประมาณ 2/3 – 1 ซ.ม.
ดินที่ใช้เพาะจะต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค ถ้าเป็นดินเก่าควรจะได้อบฆ่าเชื้อโรคก่อน เราสามารถใช้ทรายก่อสร้างที่ร่อนแล้ว ผสมกับปุ๋ยมะพร้าว (ที่นำเอาเส้นใยไปใช้ทำที่นอนหรือเบาะรถยนต์ เหลือเฉพาะขุยที่นุ่ม ฯ) ในอัตราส่วน 1:1 หรือ 1:2 ก็ได้ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วผสมน้ำให้ชื้นพอประมาณ (ไม่แฉะ)
กระบะที่ใช้เพาะเมล็ด จะใช้ลังน้ำอัดลม หรือลังน้ำหวานเก่า ๆ หรือตะกร้าพลาสติกโปร่ง ๆ มีขนาดใกล้เคียงก็ลังน้ำหวานก็สะดวกดี บรรจุทรายและปุ๋ยมะพร้าวที่เตรียมไว้ประมาณ 2/3 เกลี่ยให้ผิวหน้าเรียบเสมอกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจจะใช้ไม้เป็นเครื่องมือสำหรับเกลี่ยผิวหน้าก็ได้ ที่ต้องเกลี่ยผิวหน้าให้เรียบที่สุดก็เพราะว่า ทำให้น้ำไม่ขังเมื่อผิวหน้าเอียงลาดเทไปทางใดทางหนึ่ง การดูดซึมน้ำจะเป็นไปโดยสม่ำเสมอ
ให้ทำร่องตามยาวของตะกร้า ลึกประมาณ 2/3-1 ซ.ม. ให้แต่ละร่องห่างกันประมาณ 1 นิ้ว (จะได้ประมาณ 7-8 ร่องต่อ 1 กระบะ) นำเมล็ดที่จะเพาะมาวางลงในร่อง โดยใช้ปากคีบหยิบวางนอนตามยาวไปที่ก้นร่องเมล็ดต่อเมล็ด แต่ละแถวจะได้ประมาณ 40-50 เมล็ด เสร็จแล้วกลบร่องด้วยทรายและปุ๋ยมะพร้าวที่ผสมไว้ตบเบา ๆ ด้วยท่อนไม้เล็ก ๆ เช่นแปรงลบกระดานเก่า ๆ รดน้ำด้วยฝักบัวละเอียด เช่น บัวรดน้ำเล็กที่ใช้รดน้ำกล้วยไม้ ปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษอะไรก็ได้ที่มีลักษณะการซึมซับน้ำคล้ายกัน โดยให้ขนาดของกระดาษเท่ากับกระบะหรือตะกร้าพอดี
การวางจะต้องวางให้สัมผัสไปบนพื้นผิวของดินผสมที่ใช้เพาะเมล็ด นำกระบะที่เพาะไปไว้ในที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวแต่ร่ม รดน้ำวันละ 2 เวลา คือ เช้า-บ่าย โดยรดลงไปบนกระดาษให้เปียกโชก และมีน้ำขังอยู่เล็กน้อย น้ำจะค่อย ๆ ซึมผ่านกระดาษลงไปยังดินผสมทำให้ดินผสมมีความชื้นเสมอกันหมด และอีกประการหนึ่ง กระดาษจะช่วยเก็บรักษาความชื้นของกระบะเพาะให้มีความชื้นสม่ำเสมอตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น
หลังจากเพาะประมาณ 4-5 วัน เมล็ดเยอบีร่าจะเริ่มงอก ดังนั้น หลังจาก 4-5 วันไปแล้ว ควรจะได้เปิดกระดาษดูทุกเช้าก่อนรดน้ำว่างอกเกือบหมดหรือยัง ถ้างอกเป็นที่พอใจแล้วควรจะเปิดกระดาษแล้วปิดด้วยกระจกใสแทน โดยวางกระจำใสลงบนขอบกระบะ เพื่อว่าต้นกล้าที่งอกใหม่จะได้แสงสว่างบ้าง พร้อมกันนั้นกระจกจะช่วยเก็บรักษาความชื้นเป็นอย่างดี ทำให้ไม่ต้องรดบ่อย ๆ เพราะถ้ารดน้ำบ่อยไปจะทำให้ต้นกล้าช้ำดินแน่น ทำให้การถ่ายเทอากาศไม่ดี การสร้างรากของต้นกล้าเป็นไปได้ช้า
คุณอาจจะย้ายกล้าเยอบีร่าตั้งแต่เยอบีร่าตั้งแต่เยอบีร่ายังไม่งอกใบจริง คือ ประมาณ 15-20 วัน แต่ถ้าไม่แน่ใจ อาจจะรอจนกว่าต้นกล้างอกใบจริง คือ ประมาณ หลังจากเพาะเมล็ด 30 วันก็ได้ โดยใช้ดินสอดำและปากคีบเป็นเครื่องมือในการย้าย ไม่ควรรดน้ำก่อนย้ายกล้า เพราะจะทำให้ดินเปียกและแน่น รากเยอบีร่าขาดได้ง่าย
ควรงดน้ำก่อนย้ายประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพื่อดินจะได้แห้ง ใช้ดินสอช่วยคุ้ยต้นเยอบีร่าขึ้นเป็นแถว ๆ แล้วใช้ปากคีบปลายแหลมสอดเข้าใต้ใบคู่แรกสุด ประคองขึ้นมาวางลงในหลุมในกระบะหรือกระถางเล็ก ๆ ซึ่งที่ที่จะย้ายลงไปใหม่นี้ ควรจะทำหลุมเตรียมมาไว้ก่อน โดยใช้ปลายดินสอทิ่มลงไปลึกตามความยาวของราก ถ้าถนัดขวาควรจะซ้อนต้นกล้าด้วยมือซ้าย จับดินสอด้วยมือขวา เพื่อว่าจะได้ใช้ปลายดินสอช่วยประคองรากลงในหลุมแล้วเกลี่ยดินข้างหลุมลงให้กระชับราก
ดินผสมที่ใช้ย้ายกล้าควรจะเป็น ทราย : ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก (เก่า) ในอัตราส่วน 1:1:1 หลังจากย้ายกล้าแล้วควรจะรีบรดน้ำให้โชก มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้ต้นเหี่ยวถึงตายได้ วางกระบะหรือกระถางต้นกล้าที่ย้ายใหม่ไว้ในที่ร่มรำไร เมื่อต้นกล้าตั้งตัวและรากใหม่เริ่มงอก ควรจะผสมปุ๋ยใบอย่างเจือจางรดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง จนกว่าต้นกล้าโตพอสมควรจึงย้ายปลูกต่อไป เยอบีร่าจะบานดอกแรกนับจากวันเพาะเมล็ดประมาณ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง
2. ปลูกโดยใช้หน่อ เนื่องจากเยอบีร่ามีการแตกหน่อดีมาก แต่ละพันธุ์ หลังจากปลูกไปแล้ว 1 crop (ประมาณ 8-12 เดือน) จะให้จำนวนหน่อแตกต่างกันไป (ประมาณ 7-15 หน่อ) บางพันธุ์แตกหน่อน้อย ชาวบ้านมักจะพูดถึงพันธุ์นี้ว่าหวงหน่อ บางพันธุ์ให้จำนวนหน่อมาก
การขยายพันธุ์ โดยวิธีแยกหน่อเยอบีร่า ถ้าทำด้วยความระมัดระวัง และพิถีพิถันเปอร์เซ็นต์การตายของหน่อที่แยกไปปลูกแทบจะไม่มีเลย เพราะแต่ละหน่อมีรากติดไปด้วย แต่ถ้าไม่ระมัดระวังอาจจะไม่มีเปอร์เซ็นต์รอดเลยก็เป็นได้
ที่ว่าระมัดระวังและพิถีพิถันนั้นคือ เมื่อขุดเยอบีร่าขึ้นมาทั้งกอแล้ว ควรจะล้างดินที่ติดมากับรากและต้นออกให้หมด เมื่อรากสะอาดแล้ว จะมองเห็นแต่ละต้น (หน่อ) ของเยอบีร่าที่ประกอบกันเป็นเยอบีร่าอย่างชัดเจน ถ้าเยอบีร่าอายุครบหนึ่งปีแล้วยิ่งจะเห็นชัดยิ่งขึ้นแทบจะใช้มือบิแต่ละต้น (หน่อ) ออกจากกันโดยไม่กระทบกระเทือนซึ่งกันและกันเลย แต่ถ้าเยอบีร่ายังมีอายุไม่ครบหนึ่งปี จำเป็นต้องใช้มีดเล็กช่วยแบ่งแยกต้นแต่ละต้นให้ขาดออกจากกัน แทนการใช้มือบิ เพราะมิได้ยากดีไม่ดีดอาจจะทำให้ยอดหัก อีกทั้งบางต้นที่บิออกมาได้อาจจะไม่ได้รากติดมาเลย ซึ่งเมื่อนำไปปลูกแล้วจะไม่รอด ดังนั้น แต่ละต้น (หน่อ) ที่แยกออกมาควรจะมีรากติดมาอย่างน้อย 3 ราก
เมื่อได้ต้นแต่ละต้นเรียบร้อยแล้ว จากประสบการณ์และการทดลองพบว่า ถ้าได้มีการตัดรากที่ยาวรุ่มร่ามให้สั้นลงเหลือประมาณ 3 นิ้ว พร้อมทั้งตัดใบให้สั้นลงครึ่งหนึ่งจะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็วขึ้น และถ้าได้ชำต้นเยอบีร่าเหล่านั้นในแปลงหรือกระบะ โดยชำให้ชิด ๆ กัน (ระยะประมาณ 2 นิ้ว) แล้วพรางแสงให้อาจจะด้วยทางมะพร้าวหรือใต้ร่มไม้หรือเรือนระแนง ลดความเข้มของแสงประมาณ 15% เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จึงย้ายปลูกในแปลงปลูกต่อไป จากการทดลองปรากฎว่า ต้นเยอบีร่ารอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ตายไปบ้างพบว่าตายเนื่องจากปลูกลึกเกินไป ดินกลบยอดทำให้ต้นเน่าตาย
ดังนั้น การขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหน่อ จึงนับได้ว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หลังจากแยกหน่อปลูกประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ดอกจะเริ่มทยอยบานให้ตัดได้
วิธีการปลูกเยอบีร่า
เยอบีร่า เป็นไม้ที่ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย การดูแลรักษาน้อย แต่อย่างไรก็ตามถ้าได้ดินดี น้ำดี ปุ๋ยดี เยอบีร่าจะให้ผลตอบแทนสูง และได้ดอกที่มีคุณภาพที่ดีกว่า ดังนั้น ควรจะได้จัดเตรียมดินปลูกเยอบีร่าให้เป็นไปตามความเหมาะสม คือ ควรจะเป็นดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุพอสมควร มี pH ประมาณ 6.5-7.5 (เยอบีร่าชอบไปทางด่าง ๆ หน่อย แต่เป็นกรดนิด ๆ ก็ไม่ว่ากระไร)
การปลูกเยอบีร่าเป็นการค้าแถบชานพระนครซึ่งเป็นที่ลุ่ม จึงปลูกแบบยกร่องปลูกและปลูกร่วมไปกับการปลูกผัก ส่วนมากมักจะเปลี่ยนจากที่นามาเป็นร่องสวน โดยการยกร่องกว้างประมาณ 6.5 เมตร เป็นคูน้ำและทางเดิน 2 ข้าง และคูน้ำประมาณข้างละ 80 ซ.ม. ฉะนั้นเหลือเนื้อที่ปลูกจริง ๆ ประมาณ 4.5 เมตร ส่วนความยาวของแปลงยาวตามพื้นที่อาจจะเป็น 60 80 หรือ 120 เมตรก็ได้
ส่วนมากแต่ละครอบครัวจะมีสวนผัก+ไม้ดอก ในครอบครอง (อาจจะเช่า) ประมาณ 6-9 ไร่ ถ้าแปลงขนาด 9 ไร่ ร่องสวนยาว 120 เมตร จะยกแปลงปลูกได้ถึง 17 แปลง แต่ละแปลงปลูกเยอบีร่าได้ประมาณ 5,800-6,000 ต้น โดยใช้ระยะปลูก 30 x 30 ซ.ม. เนื้อที่ 9 ไร่ปลูกได้ประมาณ 1 แสนต้น ควรจะเติมปุ๋ยคอกลงไปในดินในขณะเตรียมแปลงปลูกเยอบีร่าให้เพียงพอทุกครั้งที่ปลูกใหม่
ไม่ว่าจะปลูกเยอบีร่าที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือด้วยหน่อก็ตามที ควรจะได้รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยผสมสูตร 14-14-14 หรือใกล้เคียง และซุปเปอร์ฟอสเฟสประมาณอย่างละครึ่งช้อนชาต่อหลุม แล้วกลบดินนิดหน่อย ก่อนที่จะปลูกต้นเยอบีร่าลงไป (อย่าให้รากเยอบีร่าสัมผัสกับปุ๋ยโดยตรง) ถ้าเป็นได้ควรจะใช้ฟางหรือเปลือกถั่วหรือวัสดุอื่นคลุมดินเพื่อช่วยเก็บกักความชื้น และยังช่วยไม่ให้หน้าดินแน่นเร็ว จะทำให้เยอบีร่าตั้งต้นและแตกกอได้เร็วยิ่งขึ้น
พันธุ์เยอบีร่าที่ใช้ปลูก
เนื่องจากเยอบีร่าในเมืองไทยมีมากมายหลายสิบพันธุ์ ดังนั้นควรจะคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ ที่มีลักษณะดีเด่นจริง ๆ เท่านั้น แต่ละท้องที่ย่อมมีสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกันออกไป บางพันธุ์อาจจะเหมาะในท้องที่แห่งหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับอีกท้องที่หนึ่ง
เยอบีร่าดอกสีขาว
ขาวยักยาว ดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกตรงให้หน่อใหม่ดีมาก แต่มีข้อเสีย คือเมื่อดอกแก่มักจะเปลี่ยนเป็นสีอมชมพู
เยอบีร่าดอกสีส้ม (แสด)
- สีอิฐ ดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกตรง แข็งแรงไม่มีข้อเสียเลยเป็นที่นิยมกันมาก
- จำปา ดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ การเรียงตัวของดอกเป็นระเบียบ
- สุรเสน ดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ให้จำนวนดอกมากที่สุด การเรียงตัวของดอกไม่เป็นระเบียบนัก
เยอบีร่าดอกสีชมพู
- บัวหลวง ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีชมพูเข้มคล้ายสีกลีบบัว สวยมาก ดอกดกแต่มีข้อเสีย คือ ก้านดอกในระยะแรก ๆ จะสั้น และ คดงอ เกิดโรคใบจุดได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่น ๆ
- ลูกรัก ดอกสีชมพูขลิบขาว เป็นที่นิยมในตลาด ให้หน่อดี แต่มีข้อเสีย คือ ก้านดอกมักไม่ค่อยตรง
เยอบีร่าดอกสีเหลือง
- เหลืองใหญ่ การเรียงตัวของดอกดี ก้านดอกใหญ่ตรง แต่มีข้อเสีย คือ กลีบมักแอ่นไปข้างหลัง
- สีดา ดอกใหญ่ ก้านดอกตรง แต่มีข้อเสียคือ มีความต้องการปุ๋ยสูง จากการสังเกตพบว่า ถ้าปริมาณปุ๋ยไม่พอ สีของดอกจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองอมส้ม
เยอบีร่าดอกสีแดง
- แดงลักแทง ก้านดอกตรง แข็งแรง ให้จำนวนหน่อใหม่มาก
- ดอกตาเปิ่น สีดอกสดสะดุดตา ก้านดอกตรง ให้จำนวนหน่อใหม่มากที่สุดมีข้อเสีย ที่ก้านดอกอ่อนพับได้ง่าย
- แดงใหญ่ ดอกใหญ่ และซ้อนกันหนามาก แต่ก้านดอกเล็ก ทำให้คอดอกพับได้ง่าย
สำหรับท้องถิ่นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ขอแนะนำว่าควรจะได้มีการทดลองปลูกไว้เผื่อเลือกหลาย ๆ พันธุ์ในขั้นต้นก่อน หลังจากนั้นประมาณ 8-10 เดือน ผู้ปลูกเองจะสามารถคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงไว้ได้ เพื่อใช้ในการปลูกครั้งต่อ ๆ ไป และควรจะปลูกให้ครบทุกสี
การดูแลเยอบีร่า
หลังจากปลูกเยอบีร่าแล้วควรจะรอให้ต้นเจริญเติบโต จนยอดใหม่ออกมาและมีขนาดโตพอสมควรจึงจะเริ่มให้ปุ๋ย ซึ่งอาจจะใช้เวลา 30-40 วัน หลังจากปลูก ถ้าให้ปุ๋ยในครั้งแรกเร็วเกินไปจะทำให้ใบไหม้ ต้นอาจชะงักการเจริญเติบโต เพื่อความปลอดภัยควรจะเริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรกหลังจากปลูกไปแล้ว 60 วัน เพราะในช่วงนี้เยอบีร่ามีปุ๋ย ซึ่งเราใช้รองก้นหลุมไว้แต่แรกปลูกแล้ว ปุ๋ยที่ให้ควรจะเป็นปุ๋ยผสมอัตรา 1:1:1 เช่น 14:14:14 เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากเยอบีร่าจะมีการแตกกอใหม่พร้อมทั้งให้ดอกเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ จึงมีความต้องการปุ๋ยในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ให้ปุ๋ย 15 วัน ต่อครั้ง ครั้งละครึ่งช้อนชาต่อต้น โดยการฝังปุ๋ยห่างจากต้นประมาณ 6 นิ้ว สับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นจุด ๆ ไปจนรอบต้น อาจจะเริ่มครั้งที่หนึ่งทางทิศเหนือ ครั้งที่ 2, 3, 4 ทางทิศใต้ออก และตกตามลำดับ ส่วนครั้งต่อ ๆ ไปอาจจะเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ เฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ เฉียงใต้จนครบ ต้นเยอบีร่าจะได้รับปุ๋ยรอบทิศทางตลอดระยะการเจริญเติบโต
จะต้องมีการฉีดยาป้องกันโรค และแมลงไว้ล่วงหน้าเป็นประจำอาทิตย์ละครั้งเพื่อป้องกันแมลงที่จะมารบกวนกัดกิน วางไข่ ตลอดจนนำเชื้อโรคมาสู่ต้นเยอบีร่า โรคที่เกิดกับเยอบีร่า ส่วนมากมักจะเกิดจากเชื้อราโรคและแมลงที่เกิดขึ้นภายหลังการป้องกันนี้ จะมีไม่มากนักความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงอะไร แต่อย่างไรก็ตามควรจะได้เผาหรือทำลายต้นเยอบีร่าที่เป็นโรคมาก ๆ ก่อนที่จะลุกลามต่อไป
ทำความสะอาดพุ่มต้นหรือกอเยอบีร่า ให้โปร่งและสะอาดอยู่เสมอ ทำโดยการตัดหรือถอนใบแก่ ๆ ที่เหี่ยวแห้ง และใบที่เป็นโรคทิ้งไป ไม่ควรปล่อยให้เหี่ยวแห้งจนร่วงหล่นคาต้น จะเป็นแปลงสะสมของเชื้อโรคและแมลงยิ่งในฤดูฝน ควรจะแต่งกอให้โปร่งมาก ๆ เพราะในช่วงนี้เยอบีร่าแตกกอเร็ว ถ้าปล่อยให้กอแน่นทึบเกินไป จะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้น อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากและต้นเน่าตายทั้งกอได้
อย่าปล่อยให้ดอกบานจนเหี่ยวคาต้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไข่ของแมลงหรือผีเสื้อกลางคืนและอื่น ๆ เจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตในแปลงเยอบีร่า เป็นการเพิ่มปริมาณศัตรูให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งดอกที่เหี่ยวคาต้นจะถ่วงต้นเยอบีร่า ทำให้จำนวนดอกน้อยลง ดังนั้น ควรจะตัดดอกเยอบีร่าไปใช้ประโยชน์ทันทีที่ใช้การได้
อย่าปล่อยให้เยอบีร่าแตกกอจนพุ่มแน่นจนเกินไป เพราะถ้าพุ่มแน่นหรือกอใหญ่จนเกินไปจะทำให้จำนวนดอกน้อยลงเรื่อย ๆ คุณภาพของดอกก็จะเลวลงด้วย ฉะนั้น เพื่อที่จะให้เยอบีร่ามีดอกดก คุณภาพดอกดี ควรจะรีบแบ่งแยกกอนำไปปลูกในแปลงใหม่ ๆ ต่อไป (หลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 8-10 เดือน)
การปลูกใหม่แต่ละครั้ง ไม่ควรปลูกซ้ำแปลงเดิม ควรจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพืชอื่น เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการสะสมของโรคและแมลง นอกจากนี้ การปลูกพืชทิ้งไว้ในแปลงเป็นเวลานานนับปีนั้น มีผลเสียหายประการ เช่น ดินจะแน่นเหนียว การถ่ายเทอากาศไม่ดี ปริมาณเกลือแร่อันเกิดจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปและพืชใช้ไม่หมดสะสมกันมากขึ้น จนถึงจุดที่เป็นอันตรายกับต้นพืช
และยังมีปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งไปกว่านั้นคือ ไส้เดือนฝอย อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากปมในเยอบีร่า แต่ถ้าได้ย้ายปลูกบ่อย ๆ (8-10 เดือน) จะหลีกเลี่ยงอันตรายหรือผลเสียอันเกิดจากไส้เดือนฝอยได้บ้าง
ควรมีการพรางแสงเยอบีร่าตามสมควร การพรางแสงให้กับเยอบีร่าประมาณ 15% จะช่วยให้ก้านดอกเยอบีร่ายาวขึ้นประมาณ 30% ของความยาวเดิม ให้ลองใช้ตาข่ายสีฟ้าเป็นหลังคา ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำมากเพราะราคาถูก น้ำหนักเบา โครงหลังคาจึงใช้ไม้ยางธรรมดาหนาประมาณ 3 นิ้ว แต่ชาวสวนอาจจะพรางด้วยทางมะพร้าวก็ย่อมได้ ถ้าเห็นว่าผลทีได้คุ้มค่าจึงค่อยลงทุนให้มากขึ้น
ปัญหาที่พบในการปลูกเยอบีร่า
1. โรคใบจุด อาการเริ่มแรกจะเป็นวงสีม่วงอมน้ำตาลขึ้นบนใบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซ็นติเมตร วงนี้จะขยายใหญ่ขึ้นจนอาจจะชนกับอีกวงหนึ่ง ทำให้เซลล์ตาย และเมื่อเป็นมาก ๆ จะทำให้ใบแห้งตายได้เหมือนกัน มันจะเกิดกับใบแก่ เกิดจากเชื้อราบางอย่าง ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยยากับรา เช่น คาโคนิล แคปแทน หรือไซแนบ หรือเชนเลท หรืออื่น ๆ อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง
2. โรครากเน่า ชาวบ้านเรียกว่าโรคเน่า อาการเริ่มแรกต้นจะเหี่ยว แต่พอรุ่งเช้าจะฟื้น และกลับเหี่ยวอีกในตอนสาย ๆ จะเป็นอยู่เช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน ในที่สุดจะเหี่ยวโดยสิ้นเชิง และจะตายไปในที่สุด ถ้าถอนต้นขึ้นมาดูจะพบว่า รากและโคนต้นเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในดิน โดยเฉพาะดินกรดจะชอบมาก ดังนั้น วิธีป้องกันทางอ้อมก็โดยอย่าพยายามใส่ปุ๋ยที่จะทำให้ฤทธิ์ของดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นแล้วให้ถอนต้นเผาไฟเสีย แล้วราดหลุมปลูกด้วยเทอราคลอ