มะเขือ เป็นผักที่นิยมรับประทานกันมากในแถบเอเชีย และน่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย เพราะที่นั่นมีมะเขือพันธุ์ป่ามากมาย มะเขือมีความสำคัญมากในด้านคุณค่าทางอาหาร คือ มีแคลเซียมและไวตามินเอสูงมาก โดยทั่วไปมะเขือปลูกได้ตลอดปี แต่จะให้ผลดีในเดือนพฤศจิกายนและกุมภาพันธ์ ได้มีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือให้ผลใหญ่ขึ้น เราแยกประเภทมะเขือออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
- พวกมีผลกลม หรือค่อนข้างกลม ซึ่งเป็นพวก Solanum melongena var. esculentum ได้แก่ มะเขือเปราะ มะเขือเหลือง มะเขือกลมม่วง มะเขือเสวย มะเขือจาน มะเขือพันธุ์ต่างประเทศสีม่วง (Black Beauty, BlackKing)
- พวกที่มีผลกลมยาว เป็นพวก Solanum melongena var. serpentinum เช่น มะเขือยาวขาว มะเขืองาช้าง มะเขือยาวสำลี และมะเขือยาวพันธุ์สีม่วงจากต่างประเทศ เช่น Money Maker, Pingtung long, Millionaire
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของมะเขือ
มะเขือขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีการระบายน้ำดี และต้องการหน้าดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสูง เนื่องจากมะเขือเป็นพืชที่มีระบบรากลึกมาก ต้องการความชื้นในดินพอเหมาะ ไม่แห้งและน้ำขัง ต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่พอเหมาะประมาณ 21 – 29.5 องศาเซลเซียส มะเขือไม่สามารถเจริญเติบโตในสภาพที่มีอากาศเย็น โดยเฉพาะสภาพที่กลางคืนอากาศเย็นและกลางวันมีชั่วโมงแสงน้อยจะทำให้ผลผลิตต่ำ
การเตรียมดินและการปลูกมะเขือ
การเตรียมดิน สำหรับดินในการเพาะกล้า ควรเป็นส่วนผสมของดิน ทราย และปุ๋ยหมัก และควรใช้ส่วนผสมของทราย ดินปุ๋ยหมักในอัตรา 1:1:1 จะทำให้ได้กล้าแข็งแรงที่สุด กระบะเพาะกล้าควรมีขนาด 30 – 25 – 10 เซนติเมตร ควรให้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตขณะกล้างอกในอัตรา 2.75 กรัมต่อกระบะ จำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะกล้าสำหรับปลูกในพื้นไร่ประมาณ 45 – 50 กรัม
สำหรับแปลงปลูก ควรขุดไถลึก 20 – 25 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5 – 7 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเก่า คลุกย่อยลงในดินในอัตรา 5 ต้นต่อไร่ ให้ผิวหน้ามีดินละเอียดพอสมคควร ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 5 – 10 – 5 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น
การปลูก ก่อนปลูกลงในแปลงต้องเพาะกล้า วิธีการเพาะกล้าในแปลงกล้า หรือในกระบะเพาะ ก็กระทำเช่นเดียวกัน คือ ขั้นแรกนำเมล้ดมาแช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน แล้วนำมาห่อด้วยผ้าที่ชื้นไว้ประมาณ 3 วัน จนมีปุ่มรากงอกออกมาแล้วนำเมล็ดที่งอกนี้ไปเพาะในดิน ให้ลึก .6 – 1.2 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอก หรือดินละเอียด คลุมด้วยฟางแห้งแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อกล้างอกมีใบจริง ควรถอนแยกต้นอ่อนแอทิ้งไป ให้มีระยะห่างประมาณ 10 เซนติเมตรต่อต้น
ก่อนย้ายกล้า 7 วัน ควรทำการ Hardening เมื่อกล้ามีอายุ 30 วัน กล้าจะสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายไปปลูกได้ โดยให้รากกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ควรพลางแสงต้นกล้าไว้ประมาณ 2 – 3 วัน หลังย้ายกล้าจะทำใก้ล้าตั้งตัวได้เร็ว
ระยะปลูก ถ้าเป็นต้องการให้พุ่มเตี้ย ควรใช้ 70 – 90 – 60 – 70 เซนติเมตร ถ้าต้องการให้พุ่มสูง ควรใช้ 75 – 90 – 50 – 60 เซนติเมตร
ในการปลูกเป็นการค้าในหลายท้องที่ อาจใช้ระยะ 100 – 30 เซนติเมตร เพราะจะทำให้ต้นมะเขือสูง ผลมะเขือไม่ห้อยติดดิน แต่ใบมักบังกัน ไม่ค่อยโดนแสงแดดเต็มที่ ทำให้มะเขือโตช้า ต้องมีการตัดแต่งใบออกบ้าง เพื่อให้ประสิทธิภาพในการปรุงแสงสูง
การดูแลรักษามะเขือ
การให้น้ำแก่มะเขือ จำเป็นมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต ต้องมีน้ำเพียงพอและสม่ำเสมอ ในระยะต่อมาไม่ค่อยจำเป็นนัก ลดปริมาณน้ำให้น้อยลง และไม่ควรให้น้ำจนดินแฉะ
การให้ปุ๋ย เนื่องจากต้องการให้ผลของมะเขือมีมากและสมบูรณ์ สัดส่วนของปุ๋ยควรเป็น N:P:K = 1:1:1.5-2 สูตรปุ๋ยที่ใช้คือ 13 – 13 – 21 ในอัตราส่วน 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ ในระยะแรกของการปลูกคือ หลังย้ายกล้าควรให้ปุ๋ยยูเรียและแอมโมเนียมไนเตรต ในอัตรา 15 – 20 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับปุ๋ยผสมควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือใส่เป็นปุ๋ยรองพื้น และปุ๋ยโรยข้างหลังจากมะเขือมีอายุ 1 เดือนหลังย้ายกล้า
การพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรปฏิบัติบ่อยครั้งในขณะที่มะเขือเริ่มเจริญเติบโตเพื่อป้องกันวัชพืชมิให้มาแย่งปุ๋ยและน้ำจากมะเขือ นอกจากนั้น ยังทำให้ดินโปร่งระบายน้ำและอากาศดี รากมะเขือจะแผ่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
การป้องกันและกำจัดโรคแมลงของมะเขือ
ในระยะกล้า หากรดน้ำจนดินเปียกมากเกินไป อาจทำให้มะเขือมีโคนเน่า (Damping off) หลังจากเพาะกล้าได้ 1 สัปดาห์ กล้าจะมีใบ 2 ใบ ควรฉีดยากันโรคและแมลง เช่น Sevin และ Zineb โดยฉีดทุกๆ 1 สัปดาห์
มะเขืออยู่ในแปลงปลูก แมลงที่พบมักเป็นเพลี้ยอ่อน (Aphids) เพลี้ยไฟ (Thripe) ไร (mites) หมัด (Flea beetle) ควรใช้ยา Malathion, Parathion, Nicotin Sulphate นอกนี้ยังพบหนอนเจาะต้นมะเขือ มักพบในระดับ 2 – 3 นิ้วเหนือพื้นดิน ตัวหนอนมักมีสีขาวขุ่นๆ หากพบต้องทำลายโดยการถอนทิ้ง
โรคมะเขือที่พบคือ โรคใบด่าง (Mosaic) โรคเหี่ยว (Wilt) โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose) โรคผลเน่า (Fruit-rot) โรคที่เกิดจากเชื้อรานี้บางชนิดจะติดไปกับเมล็ดมะเขือด้วย (Seed borne) มีวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคมะเขือได้โดยทำความสะอาดแปลงที่จะปลูกมะเขือโดยการเผาเศษหญ้าหรือทำการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับมะเขือ และอีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อจะปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที
การเก็บเกี่ยวมะเขือ
อายุของมะเขือที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 60 – 85 วันหลังย้ายกล้าและจะให้ผลผลิตอยู่นานถึง 6 – 8 เดือน ระยะที่เก็บผลควรอ่อน หากเก็บตอนผลแก่ คุณภาพของผลผลิตจะเลวลง ในบางครั้งชาวสวนนิยมทำมะเขือตอ โดยปลูกก่อนฤดูหนาวเล็กน้อย และทิ้งมะเขือให้พักตัวในแปลงผ่านฤดูหนาว เมื่อเข้าฤดูฝนใหม่ มะเขือนั้นจะให้ผลผลิตเร็วและมากกว่ามะเขือที่เริ่มปลูกในฤดูฝน จะทำให้ได้ราคาดี เฉลี่ยผลผลิตมะเขือประมาณ 2.5 ต้นต่อไร่
พันธุ์มะเขือ
มะเขือถูกคัดพันธุ์โดยการกลายพันธุ์และชาวสวนมักจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง พันธุ์เหล่านี้ได้แก่ มะเขือเปราะเจ้าพระยา มะเขือยาวงาช้าง มะเขือยาวสำลี มะเขือเสวย สำหรับพันธุ์ต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกมักเป็นมะเขือสีม่วง มีทั้งผลกลมและผลยาวพันธุ์ต่างๆ ที่นำเข้ามา มีดังนี้
- Blackberry ผลกลมไข่ สีม่วงเข้ม
- BlackKing Hybrid ผลคล้ายพันธุ์ Black Beauty น้ำหนักผลประมาณ 500 กรัม ต้นเตี้ย ออกดอกติดผลเร็ว ผลมีคุณภาพในการขนส่งดี
- Money Maker Hybrid ผลกึ่งยาวเฉลี่ยผลยาวประมาณ 14 – 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผลสีม่วง
- Pingtung Long ผลยาวผอมเรียว ขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร น้ำหนัก 130 กรัมต่อผล ผลสีม่วง ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคดีมาก