วิธีปลูกถั่วนั่ง (Cowpea)

ถั่วนั่ง

ถั่วนั่ง นอกจากจะปลูกเพื่อรับประทานฝักสด หรือเพื่อเก็บเมล็ดแห้งแล้ว ยังสามารถที่จะปลูกพืชใช้ทำเป็นพืชอาหารสัตว์ หรือปลูกเพื่อใช้เป็นพืชปรับปรุงก็ได้ ดังนั้น วิธีปลูกถั่วนั่ง จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี

วิธีปลูกถั่วนั่ง

1. ปลูกโดยการหว่านเมล็ด โดยมากจะปลูกเป็นพืชไร่ เพื่อใช้ทำเป็นอาหารสัตว์หรือทำเป็นพืชปรับปรุงดินโดยการไถถั่วนั่งกลบลงในดิน การปลูกวิธีนี้จะใช้เป็นเมล็ดประมาณ 16 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ไร่ นอกจากจะปลูกถั่วนั่งอย่างเดียวแล้วยังสามารถที่จะหว่านถั่วนั่งร่วมไปกับเมล็ดพืชชนิดอื่น เช่น หว่านรวมไปกับข้าวโพด แล้วเก็บเกี่ยวทั้งข้าวโพดและถั่วนั่งไปเป็นหญ้าแห้งหรือนำไปทำอาหารหมักใช้เลี้ยงสัตว์

2. ปลูกเป็นแถวหรือปลูกเป็นหลุมเพื่อเก็บฝักสดหรือเมล็ดพันธุ์ ใช้ระยะระหว่างแถว 7.5 ซ.ม. ระยะระหว่างหลุม 20 ซ.ม. การปลูกเป็นหลุมนี้จะใช้วิธีหยอดเมล็ดเป็นหลุม หลุมละ 2-3 เมล็ด ซึ่งเมื่อต้นถั่วงอกแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องถอนทิ้งให้เหลือเพียงหลุมละต้น เพราะถั่วนั่งเป็นพืชที่มีขนาดเล็กและอายุสั้น จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการแย่งน้ำและธาตุอาหารในดิน หลังจากหยอดเมล็ดแล้วควรใช้ยากำจัดแมลงในต้น เช่น Seven โรยตามหลุมเพื่อป้องกันมดมาทำลายเมล็ด

การดูแลรักษาถั่วนั่ง

การดูแลรักษา หลังจากที่ถั่วงอกแล้วในระยะที่ยังเล็กอยู่อาจจะอ่อนแอต่อโรคอยู่บ้าง แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ต้นถั่วจะมีความต้านทานดี แข็งแรงกว่าถั่วฝักยาวมาก โดยทั่วไปแล้ว ถั่วนั่งไม่ต้องการการดูแลมากนัก แม้แต่การให้น้ำโดยเฉพาะในฤดูฝนอาจจะไม่ต้องให้น้ำเลยก็ได้ แต่ในฤดูแล้งควรใหน้ำพอชุ่มก็เพียงพอ

โรคและแมลงสำหรับถั่วนั่ง

ในเรื่องโรคและแมลง ถั่วนั่งมีโรคและแมลงรบกวนไม่มากนัก โรคที่มักจะพบโดยทั่วไปมี

1. โรคใบด่าง (Mosaic) เกิดจากเชื้อไวรัส (Virus) เป็นสาเหตุ โรคนี้จะถ่ายทอดโดยแมลงพกวเพลี้ยอ่อน (Aphid) ถั่วนั่งที่เป็นโรคนี้จะปรากฏอาการใบด่าง หงิกงอและเกิดปุ่มปม (Mottling) ขึ้นที่ใบ ใบที่เป็นโรคนี้จะมีขนาดเล็กลงมาก ถั่วนั่งที่เป็นโรคนี้จะให้ผลผลิตลดลงมาก หรืออาจจะไม่ให้ผลผลิตเลย นอกจากนี้โรคนี้ยังสามารถถ่ายทอดไปกับเมล็ดได้ การป้องกันกำจัดโรคนี้โดยตรงยังไม่อาจทำได้ อาจจะป้องกันได้โดยเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค และฉีดยาป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน

2. โรค Anthracnose เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum lindemuthianum และโรคสามารถ่ายทอดไปกับเมล็ดได้ ถ้านำเมล็ดที่มีโรคอยู่ไปปลูก จะทำให้ต้นอ่อนถูกโรคเข้าทำลายเสียหายมาก อาการของโรคจะเกิดรอยแผลสีน้ำตาล (Canker) ที่ต้นอ่อนและใบเลี้ยง ต่อมาเส้นใบจะถูกทำลายไป แต่ในที่แห้งแล้งถั่วนั่งจะสามารถเจริญเติบโตจนมีฝักจึงจะปรากฎอาการของโรคให้เห็น

การป้องกันกำจัด อาจใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนในระยะเวลา 3 ปี และพันธุ์ต้านโรคจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ดี ส่วนการกำจัดโรคควรใช้ยากำจัดเชื้อรา เช่น Zineb หรือ Ziram ฉีดทุกอาทิตย์จะได้ผลดี

สำหรับแมลงศัตรูนั้น ถั่วนั่งมีความต้านทานต่อแมลงดีมาก ไม่ค่อยมีแมลงมารบกวนมากเหมือนถั่วฝักยาว แต่ถ้ามีแมลงรบกวนก็อาจใช้ยาฆ่าแมลงทั่ว ๆ ไปฉีดก็ได้

ปัจจุบันนี้ถั่วนั่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากองค์การต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการ SEARCA ที่ได้ทำการศึกษาถึงพันธุ์ถั่วนั่งที่สามารถจะใช้ผลผลิตสูงทั้งฝักสดและเมล็ดแห้ง โดยทำการทดลองปลูกถั่วนั่งในเอเชีย 7 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยเรา ซึ่งได้ทำการทดลองปลูกที่ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

พันธุ์ถั่วนั่งที่ใช้ปลูกเพื่อรับประทานสด

  1. VCS-14 มีลักษณะต้นเป็นพุ่ม สูงประมาณ 50 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 30 วัน อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน ฝักมีสีเขียวอ่อน
  2. Los Banos# 1 มีลักษณะต้นเป็นพุ่ม สูงประมาณ 50 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 30 วัน อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน ฝักมีสีเขียว่อน
  3. DES-6015 ลำต้นจะเลื้อยสูงประมาณ 100 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 33 วัน อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน ฝักมีสีเขียวเข้ม
  4. VCS-15 มีลักษณะต้นเป็นพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30 ซ.ม. อายุออกดอกราว 30 วัน อายุเก็บเกี่ยวราว 65 วัน ฝักมีสีเขียวอ่อน
  5. VCS-6-14R ลักษณะต้นเป็นพุ่มสูงประมาณ 50 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 30 วัน อายุเก็บเกี่ยว 60 วัน ฝักมีสีเขียวอ่อน

พันธุ์ที่ใช้ปลูกเพื่อรับประทานเมล็ดแห้ง

  1. All season ลำต้นจะเลื้อยสูงประมาณ 130 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 33 วัน อายุเก็บเกี่ยวราว 65 วัน เมล็ดมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลอ่อน
  2. UPCA # 5 ลำต้นจะเลื้อยสูงประมาณ 150 ซ.ม. มีอายุออกดอกราว 35 วัน อายุเก็บเกี่ยว 80 วัน เมล็ดมีขนาดปานกลาง สีดำ
  3. VCS-22 มีลักษณะต้นเป็นพุ่ม สูงประมาณ 60 ซ.ม. อายุออกดอกราว 32 วัน อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน เมล็ดมีขนาดเล็ก สีขาว
  4. Blackeye ลำต้นจะเลื้อย สูงประมาณ 80 ซ.ม. มีอายุออกดอกประมาณ 40 วัน อายุเก็บเกี่ยวราว 80 วัน เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีขาวตาดำ
  5. V-65-2 มีลักษณะต้นเป็นพุ่ม มีความสูงประมาณ 75 ซ.ม. อายุออกดอกราว 33 วัน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 75 วัน เมล็ดมีขนาดใหญ่ลายสีขาวและแดง

สำหรับเมล็ดแห้งที่เก็บเกี่ยวมาแล้วควรทำการตากให้แห้งก้อนที่จะเก็บ มิฉะนั้นจะทำให้สูญเสียชีวิตและความสามารถในการงอกจะลดลงมาก และมักจะมีแมลงรบกวน แมลงที่พบมักจะเป็นพวกด้วงถั่ว เช่น Cowpea weevil

พันธุ์ถั่วนั่งที่แนะนำทั้ง 10 พันธุ์นี้ เป็นพันธุ์ที่ได้ทำการทดลองปลูกแล้วทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถที่จะให้ผลผลิตได้สูง และมีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี เป็นพืชที่น่าสนใจ เพราะเกษตรกรสามารถที่จะปลูกได้ง่าย ๆ และเก็บเกี่ยวได้เร็ว สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรในระยะเวลาอันสั้น และถั่วนั่งนี้ก็ไม่ได้เป็นพืชใหม่ในท้องตลาด ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่บ้างแล้ว จึงน่าจะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้