วิธีปลูกคาร์เนชั่น (Carnation)

คาร์เนชั่น

คาร์เนชั่น มีถิ่นกำเนิดในยุโรปตอนใต้ พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าทุกวันนี้ ดั้งเดิมได้มาจากฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1840 ได้นำเข้าไปในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1856 คาร์เนชั่นที่นำเข้าไปในอเมริกาส่วนใหญ่ปลูกในเรือนกระจกทั้งสิ้น ใช้ทำเป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี ให้จำนวนดอกต่อต้นนับเป็นที่สองรองมาจากกุหลาบ ในสหรัฐอเมริกามีคาร์เนชั่นปลูกในมลรัฐต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

การปลูกคาร์เนชั่นแต่ละครั้งอาจจะอยู่ได้เพียงฤดูเดียวหรือหลายฤดูก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปลูกปฏิบัติรักษา บางแห่งอาจจะปลูกได้เพียงฤดูเดียว บางแห่งอาจจะปลูกแล้วเก็บเกี่ยวได้นานถึง 2-3 ปี ซึ่งตามปกติแล้วเป็นการปลูกคาร์เนชั่นในเรือนกระจก ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสภาพฟ้าอากาศในฤดูต่าง ๆ ของปี แต่ถ้าการปฏิบัติรักษาไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะทำให้ผลผลิตไม่ดีเหมือนเดิมก็ได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คาร์เนชั่น

สกุล Dianthus เป็นสกุลใหญ่สกุลหนึ่งในวงศ์ Caryophyllaceae ลักษณะโดยทั่วไปของไม้ดอกในสกุลนี้คือ สูงประมาณ 10-15 นิ้ว ขึ้นเป็นพุ่มใบมีสีเขียวแก่ลักษณะใบยาวปลายใบเรียวแหลม ขอบใบทั้งสองมักจะโค้งงอเข้าหากลางใบเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายร่องน้ำ ใบจะออกเป็นคู่สลับ โดยใบจะหุ้มรอบข้อ (node) ทำให้ตรงข้อของลำต้นมีลักษณะบวมโต ดอกมีทั้งชนิดดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว ปลายกลีบดอกจะมีลักษณะหยัก ๆ คล้ายฟันเลื่อย กลีบหุ้มดอก (calyx) มีลักษณะรวมติดกันเป็นกรวยหุ้มกลีบดอก (petal) ไว้ เรียกว่า calyx tube ดอกมีขนาดตั้งแต่ 1 นิ้วครึ่ง ถึง 3 นิ้ว สีของดอกมีหลายสี คือ ขาว แดง แดงอมม่วง และอาจจะมี 2 สีในดอกเดียวกัน (bicolor)

การขยายพันธุ์คาร์เนชั่น

การขยายพันธุ์คาร์เนชั่นทำได้หลายวิธี เริ่มต้นด้วยการเพาะด้วยเมล็ด ใช้กิ่งปักชำและสมัยใหม่นี้ วิทยาการก้าวหน้าไปมาก มีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเยื่อด้วย แต่ที่นิยมในขณะนี้คือขยายพันธุ์โดยกิ่งปักชำ

1. การใช้เมล็ด เมล็ดคาร์เนชั่นมีขนาดไม่เล็กนัก เมื่อเทียบกับกล็อกซิเนียและพิทูเนีย เมล็ดหนัก 1 ออนซ์มีจำนวน 14,000 เมล็ด เมล็ดคาร์เนชั่นบางพันธุ์มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่น ๆ เช่นพันธุ์ Juliet ซึ่งเป็นลูกผสมช่วงแรก ฉะนั้น การเพาะเมล็ดคาร์เนชั่นจึงต้องพิถีพิถันและทำด้วยความระมัดระวัง แต่การเพาะง่ายกว่าเพาะกล็อกซิเนียและพิทูเนีย ไม่ควรสั่งเมล็ดคาร์เนชั่นมาเก็บไว้นาน ๆ โดยไม่เพาะ จะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกไม่ได้เท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะเมล็ดเสียความงอกเร็ว

ดินหรือส่วนผสมที่ใช้เพาะ เช่นเดียวกับที่ใช้เพาะเมล็ดดอกไม้ชนิดอื่น ๆ จะเป็นส่วนผสมอะไรก็ได้ แต่ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ

  • สะอาดปราศจากเชื้อโรค
  • มีปริมาณเกลือแร่ต่ำ
  • มีธาตุอาหารพืชพอควร หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ ถ้าเราย้ายกล้าทันทีที่ต้นมีขนาดพอย้ายได้
  • มี pH ประมาณ 6.5-7
  • มีการระบายน้ำดี โดยเฉพาะผิวหน้าของส่วนผสม
  • อุ้มความชื้นดี
  • สามารถใช้ได้กับเมล็ดทุกขนาด
  • หาง่าย
  • ราคาถูก

ภาชนะที่ใช้เพาะ ควรพิจารณาตามความเหมาะสม คือ ถ้าเมล็ดมีปริมาณมากพอ ควรเพาะในกระบะหรือตะกร้าพลาสติก แต่ถ้ามีเมล็ดไม่มากนักควรเพาะในกระถางตื้น ๆ

การเพาะควรจะทำร่องเป็นแถว ๆ แต่ละร่องลึกประมาณครึ่งเซนติเมตร ถ้าจะให้ดีควรแช่เมล็ดในน้ำสะอาดจะเป็นน้ำเย็นหรืออุ่นก็ได้ประมาณ 5-6 ชม. จะช่วยให้เมล็ดต่อเมล็ดกลบร่องด้วยส่วนผสมที่ใช้เพาะ ตบเบา ๆ ด้วยแท่งไม้ที่มีหน้าตัดเรียบ ๆ รดน้ำด้วยบัวที่มีหัวชนิดฝอยละเอียดที่สุด ปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ รดน้ำเช้าเย็น (รดลงไปบนหนังสือพิมพ์) รอจนกว่าเมล็ดงอกจึงเปิดกระดาษที่ใช้ปิดออก เมล็ดจะงอกภายใน 7-10 วัน

หลังจากเมล็ดงอกแล้ว ในช่วงที่เป็นต้นกล้านี้ ถ้าปิดด้วยกระจกใสได้จะดีมาก เพราะจะช่วยรักษาความชื้นได้เป็นอย่างดี มิเช่นนั้นแล้วต้องรดน้ำบ่อย ทำให้ต้นกล้าบอบช้ำอีก ทั้งอาจจะรดน้ำมากไปทำให้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตายของกล้าอันเนื่องมาจากโรค damping off ดังนั้น ในช่วงนี้จึงต้องระมัดระวังในเรื่องความชื้นมาก

2. การใช้กิ่งปักชำ ผู้ปลูก (growers) ในอเมริกากล่าวว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการปลูกคาร์เนชั่นนั้น ขึ้นอยู่กับกิ่งปักชำที่จะนำมาปลูกเป็นประการสำคัญ ควรจะเลือกกิ่งปักชำตามลักษณะดังนี้

  • ให้ผลผลิตสูง (ดอกดก)
  • คุณภาพดอกดี ไม่เกิด calyx splitting (กลีบหุ้มดอกฉีก)
  • การเจริญเติบโตดี
  • มีจังหวะการแตกยอกและดอกดี
  • ไม่มีโรคและแมลงรบกวน หรือติดมากับกิ่งชำ
  • มีความต้านทานโรคพอสมควร

ซึ่งถ้าจะทำกิ่งปักชำเอง จะต้องคอยสังเกตลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้อย่างถี่ถ้วนและเป็นเวลานานพอสมควร ต้นไหนเข้าลักษณะก็คัดออกไว้สำหรับทำเป็นต้นแม่ (stock plant) และเนื่องจากคาร์เนชั่นเป็นไม้ดอกที่มีเปอร์เซ็นต์การกลาย (mutation) สูงมาก ดังนั้นต้องคอยสังเกตไว้ด้วยอาจจะกลายไปในทางดีหรือเลวก็ได้ พันธุ์คาร์เนชั่นที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่ได้จากการกลายพันธุ์ทั้งสิ้น

เมื่อคัดต้นแม่ได้แล้ว ควรจะแยกปลูกต่างหาก มีการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ เพื่อให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่ อีกทั้งไม่มีโรค แมลงรบกวน กิ่งที่ได้จึงจะเป็นกิ่งที่ดี แต่ต้องระวังคัดเลือกกิ่งที่มีการเจริญเติบโตทางต้น (vegetative) เท่านั้นไปปักชำ และกิ่งชำจะต้องไม่สั้นหรือยาวเกินไป ถ้ากิ่งปักชำยาวเกินไป มักจะเกิดตาดอกที่ยอกกิ่งเสมอ ทำให้การออกรากช้า ถึงออกรากมากิ่งปักชำที่ได้จะไม่สมบูรณ์

อนึ่งมีโรคมากมายหลายชนิดที่เกิดขึ้นกับคาร์เนชั่น และมักจะติดไปกับกิ่งปักชำได้ง่ายที่สุด ดังนั้น ต้นแม่จะต้องปราศจากโรค และแมลงโดยสิ้นเชิงจึงจะได้กิ่งปักชำที่ดี ดังนั้น ผู้ปลูกจึงไม่นิยมทำกิ่งปักชำเอง เพราะยุ่งยาก มักจะซื้อจากเนอสเซอรี่ที่เชื่อถือได้และมีอาชีพในการทำกิ่งปักชำคาร์เนชั่นขายโดยเฉพาะ ซึ่งเนอสเซอรี่เหล่านี้จะมีความชำนาญเป็นพิเศษ เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้ปลูกมาก

การปลูกคาร์เนชั่น

การปลูกและการพยุงลำต้นทำไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ส่วนมากจะใช้ลวดขึงตาข่ายสี่เหลี่ยม ขนาดเท่ากับระยะปลูกของคาร์เนชั่น คือ ประมาณ 15 x 20 ซม. ตาข่ายที่ทำไว้จะทำตามความกว้างและยาวของแปลงซ้อนกัน 3-4 ชั้น โดยมีไม้เป็นโครงหัวแปลงท้ายแปลง และในระหว่างหัวท้ายแปลงเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้ยึดติดกับหลักข้างแปลง จะช่วยพยุงตาข่ายให้อยู่ในลักษณะขนานกับพื้นดินโดนตลอดทั้งแปลง

ปลูกคาร์เนชั่นลงตรงจุดกึ่งกลางของตาข่าย การปลูกควรจะปลูกตื้นที่สุด ให้เพียงเพื่อยึดลำต้นมิให้ล้มเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วการเจริญเติบโตของรากจะไม่ดี เมื่อคาร์เนชั่นโนขึ้น ผู้ปลูกจะค่อย ๆ ยกตาข่ายขึ้นทีละชั้น ๆ ตามความจำเป็น ชั้นล่างสุดควรอยู่เหนือดินประมาณ 6 นิ้ว ส่วนชั้นที่ 2, 3 และที่ 4 ห่างกันประมาณ 8-10 นิ้ว

อนึ่งเนื่องจากต้นคาร์เนชั่นมีน้ำหนักมาก อีกทั้งดอกดก ดังนั้นวัสดุที่จะนำมาใช้ในการพยุงลำต้นต้องแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ไม่ควรใช้เชือกเพราะเปื่อยง่าย ที่พบเห็นในต่างประเทศ เข้าใช้เส้นลวดขนาดใหญ่พอสมควร

แสงและอุณหภูมิ

คาร์เนชั่นชอบแสงแดดจัด และอากาศเย็น จากการทดลองพบว่า คาร์เนชั่นจะให้ผลดีที่สุดคือทั้งผลผลิตและคุณภาพของดอก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเราไม่ค่อยได้พบเห็นคาร์เนชั่นในกุรงเทพฯ เลย ทั้งนี้ เนื่องจากอุณหภูมิไม่เย็นพอนั่นเอง แต่ถ้าจะปลูกในฤดูหนาวก็จะปลูกได้

ดินที่ใช้ปลูก

ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำดี มีอากาศถ่ายเทดี (พืชทุกชนิดต้องการดินประเภทที่ว่ามานี้ทั้งสิ้นแทบจะไม่ต้องกล่าวซ้ำกล่าวซากอีก) และสำหรับคาร์เนชั่น เรื่องความสะอาดของดินนั้นดูเหมือนจะสำคัญมาก เพราะคาร์เนชั่นเป็นโรคได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและรา ควรจะอบฆ่าเชื้อในดินด้วยไอน้ำ หรือด้วยสารเคมีเช่น Methyl Bromide, Vapam หรืออื่น ๆ แล้วแต่สะดวก

ดินปลูกควรเป็นกรดเล็กน้อย คือ มี pH 6-7.0 จากการทดลองพบว่า โรคเหี่ยวอันเนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรียจะลดลงมากถ้า pH ของดินปลูกคาร์เนชั่นเป็นด่างสูงกว่า 7 เล็กน้อย แต่น่าเสียดายที่มิได้บอกว่าต้นคาร์เนชั่นเมื่อปลูกในดินที่มีสภาพด่างเล็กน้อยนี้ จะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตลอดจนคุณภาพดี มากน้อยแค่ไหน

ปุ๋ย

ถ้าจะให้ดีควรจะรักษาระดับธาตุอาหารในดินปลูกคาร์เนชั่นให้ได้ตามนี้ คือ

  • ไนโตรเจน 50 ppm
  • ฟอสฟอรัส 5 ppm
  • โปแตสเซียม 30 ppm
  • แคลเซียม 200 ppm

การใส่ปุ๋ยให้กับคาร์เนชั่นมักจะเริ่มทันทีที่รากใหม่เจริญ หรือเมื่อต้นพืชตั้งตัวได้แล้ว คือประมาณ 3 อาทิตย์ หลังจากย้ายปลูก และถ้าจะทำตามสมัยใหม่คือทุกหยดของน้ำที่ใช้รดควรจะมีปุ๋ยผสมลงไปด้วยทุกครั้ง ต้องผสมปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมลงไปด้วย 200 ppm ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-20 ต้องใช้ปุ๋ย 13.3 ออนซ์ ต่อน้ำ 100 แกลลอน และเพื่อป้องกันการสะสมของเกลืออันเกิดจากปุ๋ย ควรรดน้ำผสมปุ๋ยเพียง 6 วัน ในหนึ่งสัปดาห์และในวันที่ 7 ควรจะรดน้ำเปล่าในปริมาณที่มากพอ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกคาร์เนชั่นเป็นไม้ตัดดอกการค้าในต่างประเทศจึงต้องปลูกในเรือนกระจก ทั้งนี้ เพราะสามารถบังคับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมทุกประการ

พันธุ์คาร์เนชั่นที่ใช้ปลูก

คาร์เนชั่นมี 2 ประเภท คือ

  1. Garden Carnation (Spray type) เป็นคาร์เนชั่นที่ใช้ปลูกประดับมากกว่าปลูกเพื่อทำเป็นไม้ตัดดอก พันธุ์ที่ใช้ปลูกอาจจะไม่ค่อยพิถีพิถันเหมือนกับพันธุ์ที่ปลูกเพื่อทำเป็นไม้ตัดดอก
  2. Greenhouse Carnation (Standard type) เป็นคาร์เนชั่นที่ใช้ปลูกเพื่อทำเป็นไม้ตัดดอกโดยเฉพาะ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกในโรงเรือนที่สามารถจะบังคับหรือควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของดอก แต่ในเมืองไทยทางภาคเหนือมีครบทั้งอุณหภูมิ สายลมและแสงแดด จึงไม่จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือนดังเช่นต่างประเทศ ส่วนมากจะมีดอกขนาดใหญ่

พันธุ์คาร์เนชั่นที่ใช้ปลูกอยู่ทุกวันนี้ได้มาจากการกลายพันธุ์ (mutation) เป็นส่วนใหญ่ แต่เกดจากการผสมพันธุ์ (hybridization) ก็ไม่น้อย มีหลายสีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกมากได้แก่

คาร์เนชั่นสีขาว

  • Colorado White Sim
  • White Sim
  • White Apollo

คาร์เนชั่นสีชมพู

  • Salmon Sim
  • Pink Sim
  • Portrait
  • Cardinal Sim
  • Linda
  • Rusty

าร์เนชั่นสีเหลือง

  • Harvest Moon
  • Yellow Sim
  • Yellow Dusty

คาร์เนชั่นสีส้ม

  • Tangerine
  • Quinn’s Orange
  • Sunset Sim

คาร์เนชั่นสองสี (bicolor)

  • Gayety
  • S. Arthur Sim
  • Pink Sim
  • Pink Mist
  • Peppermint Sim

คาร์เนชั่นสีม่วง

  • Orchid Beauty
  • Safari
  • Caribe