วิธีปลูกบร็อคโคลี่ (Broccoli)
บร็อคโคลี่ เป็นกะหล่ำที่ใช้ส่วนของช่อดอกและลำต้นในส่วนที่อ่อนมาบริโภค แตกต่างกับกะหล่ำดอกไทยที่รับประทานส่วนที่เป็นดอกอ่อนเล็กๆ สีเขียว อิตาลีเป็นประเทศที่นิยมปลูกเพื่อใช้รับประทานลำต้นและช่อดอก ต่อมาแพร่หลายมาในประเทศไทย ประเทศไทยปลูกได้ผลดีในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจัด เช่น ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำรายได้ให้แก่ผู้ปลูกดีกว่ากะหล่ำปลีและกะหล่ำดอก แต่ตลาดการบริโภคยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากบร็อคโคลี่ไม่ค่อยมีคุณสมบัติในการเก็บรักษาไว้นานๆ จึงทำให้ราคาสูง
ส่วนของช่อดอกบร็อคโคลี่ หรือเรียกว่า Head นั้น จะเป็นดอกเล็กๆ มีจำนวนมากไม่อัดตัวกันแน่นเหมือน Curd ของกะหล่ำดอก Head แรกของต้นจะมีขนาดกว้างถึง 15 เซนติเมตร เมื่อเก็บดอกแรกนี้ไปแล้ว ต้นเดิมอาจแตกแขนงและให้ช่อดอกอีก ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าช่อดอกอันแรก การรับประทานมักทานดอกอ่อนและก้านของช่อดอก หรือลำต้นส่วนอ่อนๆ มักรับประทานโดยทำให้สุกเสียก่อนโดยการต้มหรือผัด บร็อคโคลี่เป็นผักที่เก็บไว้ในสภาพธรรมชาติไม่ได้นาน เพราะดอกจะเหลืองและบานออก ดังนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวจึงนิยมทำแช่แข็ง (frozen) แล้วเก็บไว้ในกรณีที่จะขนส่งไปตลาดไกลๆ
การเตรียมปลูกบร็อคโคลี่
บร็อคโคลี่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่ากะหล่ำดอกเสียอีก โดยเฉพาะผลกระทบกระเทือนที่มาจากการขาดน้ำในดิน บร็อคโคลี่ต้องการน้ำสำหรับการเจริญเติบโตในระยะแรกมาก หากขาดน้ำจะทำให้ก้านช่อดอกเล็ก head จะเล็กตามไปด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของดินต้องการมากกว่าดินที่ปลูกกะหล่ำดอก ดังนั้น หากในพื้นที่ที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์พอเพียงต้องใส่ปุ๋ย นอกจากนั้น การขาดน้ำและปุ๋ยไม่พอเพียงยังทำให้ดอกกระจายไม่แน่นและอาจะเป็นเสี้ยนซึ่งจะทำให้กลายเป็นผักที่มีคุณภาพต่ำ ระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินประมาณ 6-6.8 และจะต้องได้รับแสดงแดดเต็มที่ตลอดวัน หากพื้นที่ที่ปลูกมีสภาพที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศประมาณ 20 องศาเซลเซียส ถือว่าเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของบร็อคโคลี่มาก ในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่านี้ ก็ปลูกบร็อคโคลี่ได้ แต่จะได้ช่อดอกที่เล็กและมีคุณภาพไม่ดี เพราะดอกจะบานเร็ว ทำให้ช่อดอกมีสีเหลืองและการเสื่อมคุณภาพหลังจากเก็บเกี่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การเตรียมดิน โดยทั่วไปมักปลูกโดยการย้ายกล้า ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินแปลงกล้า โดยขุดดินตากไว้ 5-7 วัน แล้วเก็บวัชพืชและย่อยหน้าดินให้ละเอียดพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่า แล้วคลุกเคล้าให้ละเอียด แปลงกล้ามักมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาวประมาณ 3-4 เมตร สำหรับแปลงปลูกการเตรียมดินไม่ต้องให้ลึกมากนัก เนื่องจากบร็อคโคลี่เป็นผักที่มีรากตื้น โดยทั่วไปดินแปลงปลูกไถให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินและเก็บวัชพืชเช่นเดียวกับแปลงกล้า ควรใส่ปุ๋ยคอกคลุมไปตอนย่อยดิน หากดินแน่นหรือเป็นกรดต้องใส่ปูนขาวลงไปเพื่อปรับระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วย
การปลูกและการดูแลบร็อคโคลี่
การปลูกและการปฏิบัติรักษา กล้าที่ย้ายมาปลูกในแปลงปลูกควรมีอายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ ไม่ควรให้กล้ามีอายุนานเกินไป จะทำให้ผักออกดอกเร็วและดอกจะมีขนาดเล็ก ในแปลงกล้าใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 35 กรัมต่อพื้นที่ 2.5-3 ตารางเมตร ซึ่งกล้าที่ผลิตได้นี้จะปลูกได้ในแปลงปลูก 1 ไร่ ระยะปลูกในแปลงปลูกสำหรับบร็อคโคลี่พันธุ์เบา ซึ่งนิยมปลูกในประเทศไทย คือ 50-60 เซนติเมตร มักปลูกเป็นแถวเดี่ยว ในพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีเครื่องทุ่นแรงในการทำงาน สำหรับพื้นที่ขนาดเล็กและใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ มักปลูกเป็นแถวคู่ หลังจากย้ายกล้าควรใช้ฟางคลุมบางๆ เป็นการพรางแสงไว้สัก 2-3 วัน แล้วค่อยเอาออก และควรรดน้ำทันทีหลังย้ายกล้า หากปลูกพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้เครื่องสูบน้ำรดด้วยสายยางหรืออาจให้น้ำตามรางในระยะต่อมาก็ได้
กะหล่ำบร็อคโคลี่ต้องการปุ๋ยไนโตรเจนมาก โดยเฉพาะปุ๋ยนี้ทำให้ต้นแตกแขนงมากหลังจากเก็บดอกแรกไปแล้ว ในกรณีที่ต้องการดอกแขนงจึงต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหลังจากเก็บเกี่ยว นอกจากปุ๋ยไนโตรเจนแล้ว ปุ๋ยโปแตสเซียมนั้น บร็อคโคลี่จะดูดไปใช้ในปริมาณมาก ดังนั้นปุ๋ยที่ให้ในแปลงปลูกควรจะมีสัดส่วน N:P:K = 1:1:2 เช่น สูตร 13:13:21 ในอัตราประมาณ 50-150 กิโลกรัม / ไร่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณของปุ๋ยคอกที่ใช้ การใส่ควรแบ่ง 2 ครั้ง คือ เมื่อย้ายกล้าควรใส่รองก้นหลุมและอีกครั้ง เมื่อย้ายกล้าได้ประมาณ 15-20 วัน โดยใส่วิธีโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ นอกจากนี้ ควรเสริมด้วยปุ๋ยยูเรียและแอมโมเนียมไนเตรด ในอัตรา 20 กิโลกรัม / ไร่ โดยใส่โรยข้างแถวเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน ควรตรวจสภาพดินว่าไม่ให้ขาดธาตุโบรอน (B) และโมลิบดินัม (Mo) เพราะจะทำให้บร็อคโคลี่เป็นโรค การพรวนดินกำจัดวัชพืชมักทำพร้อมการให้ปุ๋ย
การเก็บเกี่ยวบร็อคโคลี่
การเก็บเกี่ยว ต้องตัดตอนที่ช่อออกเกาะกลุ่มกันแน่น แต่ต้องก่อนดอกบานแย้มกลีบสีเหลือง ตัดดอกโดยติดก้านช่อไปด้วยพอประมาณ โดยทั้งลำต้นที่มีใบส่วนล่างไว้ เพื่อที่จะให้แขนงข้างเจริญและสร้างดอกได้อีก ดอกจากแขนงข้างมักมีขนาดเล็กลง โดยทั่วไปถ้าดอกแรกที่ตัดมีขนาดโดยประมาณ 15 เซนติเมตร และก้านดอกยาว 15 เซนติเมตร จะเป็นดอกที่สมบูรณ์ และตลาดต้องการมาก ควรตัดใบล่างๆ ของก้านออกบ้างเหลือไว้หุ้มดอกประมาณ 3-4 ใบ เพื่อป้องกันมิให้ดอกช้ำในขณะบรรจุและขนส่ง การตัดดอกจากแขนงไม่สามารถจะทำได้พร้อมกัน มักทยอยกันไปกิน ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น อาจสิ้นเปลืองแรงงานและถ้าดอกแขนงเล็กมาก ราคาผลผลิตที่ได้อาจะไม่คุ้มค่าแรง อายุการเก็บเกี่ยวดอกแรกของบร็อคโคลี่พันธุ์เบาประมาณ 60-85 วัน ส่วนพันธุ์หนักอาจกินเวลาถึง 150 วัน แต่ไม่นิยมปลูกในบ้านเรา ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวครั้งแรกควรได้ประมาณ 800-1,600 กิโลกรัม / ไร่
ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบร็อคโคลี่
พันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์เบาหรือพันธุ์หนัก บร็อคโคลี่ที่ดีควรจะมีดอกอ่อนเขียวเข้มและดอกรวมกลุ่มกันแน่น และไม่ควรแตกแขนงก่อนการเก็บเกี่ยวดอกแรก ซึ่งพันธุ์ดั้งเดิมที่รู้จักกันคือ Italian Calabrese ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพันธุ์ลูกผสม F1 Hybrid และพันธุ์ผสมเปิดที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ได้แก่ De Cicco อายุ 60 วัน เป็นพันธุ์ผสมเปิด Green Duke No. 4 Habrid Green Comet Hybrid อายุ 40 วัน Early value hybrid อายุ 55 วัน นอกจากนี้ ยังมีพวกดอกสีม่วง เช่น purple sprouting และ Early purple sprouting