วิธีปลูกมะระ (Bitter Gourd)
มะระ นิยมรับประทานกันมากในหมู่ประเทศแถบร้อนโดยนำมาต้ม แกง นอกจากนี้ มะระยังรับประทานกันเพื่อใช้แก้โรคต่างๆ เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังและช่วยบำรุงโลหิต แม้ว่ามะระจะมีรสขม แต่คุณค่าทางอาหารสูง ในพันธุ์ที่มีผลเล็กจะมีธาตุเหล็กและไวตามินสูงกว่าพวกผลใหญ่ ยอดและใบของมะระก็สามารถนำมาบริโภคได้เช่นเดียวกัน มะระเป็นพืชที่อยู่ตระกูลเดียวกับแตง จึงมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน การผสมละอองเกสรเพื่อให้เกิดผลต้องการแมลงเป็นตัวช่วย
มะระมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน โดยจะแตกต่างกันไปตามสีของเมล็ดและสีของผล และเนื่องจากอาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้จากการผสมข้าม และผู้ปลูกได้คัดเลือกเก็บไว้ จึงกลายเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เท่าที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยพอจำแนกพันธุ์ได้ดังนี้
- มะระจีน เป็นมะระผลใหญ่ สีเขียวอ่อน เนื้อหนา ไม่ขมนัก ผลยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของผล 7 – 8 เซนติเมตร เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนมานานแล้ว เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากในบ้านเรา
- มะระย่างกุ้ง มีผิวขรุขระเป็นหนาม ขนาดของผลเล็กเรียว โดยแหลมหัวแหลมท้าย
- มะระขี้นก มีผลค่อนข้างกลม รสขมจัดผิวขรุขระ เป็นหนาม เนื้อบาง ผลเล็ก
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต มะระเป็นพืชที่ปลูกง่ายชอบอากาศร้อน เจริญเติบโตเดียว เป็นพืชปีเดียว ลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาวประมาณ 2 – 3 เมตร ปลูกได้ตลอดปี แต่จะได้ผลดีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ความชื้นในดินต้องเพียงพอ แสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิมีพอเหมาะ 18 – ซ ถ้าอุณหภูมิเย็นจัด จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นมะระช้าลง ชาวสวนมักนิยมปลูกมะระหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากมีน้ำเพียงพอสามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง
การเตรียมดินและการปลูก เตรียมแปลงปลูกโดยขุดไถดินให้ลึกประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร เพราะมะระเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง ปรับสภาพของดินให้มีการระบายน้ำได้ดีโดยใส่ปุ๋ยคอก และใส่ปูนขาวในกรณีดินเป็นกรด ทำการยกร่องและหยอดเมล็ดพันธุ์เป็นหลุมๆ โดยหยอดหลุมละ 3 – 4 เมล็ด เมื่อให้น้ำและเมล็ดงอกได้ 2 สัปดาห์ มะระจะมีใบจริงแล้วจะถอนต้นที่อ่อนแอทิ้งไปให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม ระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 50 – 75 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร ไม่นิยมปลูกมะระโดยการย้ายกล้า เพราะมะระอายุสั้น และเมล็ดพันธุ์มีขนาดใหญ่ ในพื้นที่แปลงปลูก 1 ไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2 – 4 ลิตร
การปฏิบัติดูแลรักษา
การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงออกดอกและติดผลต้องไม่ให้ขาดน้ำ
การพรวนดิน ในระยะแรกหลังจากมะระเริ่มงอกควรทำบ่อยๆ และกำจัดวัชพืชไปด้วย หากปล่อยให้วัชพืชขึ้นในระยะแรกนี้ จะทำให้มะระขาดน้ำ เพราะวัชพืชจะแย่งน้ำแย่งปุ๋ย ในการพรวนดินต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนรากของมะระ
การให้ปุ๋ย เนื่องจากมะระเป็นผักที่ต้องการผล ดังนั้น สัดส่วนของปุ๋ย N : P : K = 1 : 1 : 1 – 1.5 เช่น ปุ๋ย สูตร 13 – 13 – 21 หรือ 14 – 14 – 21 ในอัตรา 50 – 100 กก./ไร่ ซึ่งปุ๋ยสูตรผสมนี้ควรให้เมื่อมะระมีอายุ 1 เดือน ซึ่งในระยะนี้จะเป็นระยะที่ทำค้าง เมื่อมะระงอกได้ 15 วัน ควรใส่ปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต โดนหลุมในอัตรา 20 กก./ไร่ ( 1 ช้อนแกงต่อหลุม) และพรวนดินรอบๆต้น
การปักค้าง มะระจะเริ่มเลื้อยเมื่ออายุ 15 วัน ดังนั้นควรปักไม้ค้าง การทำค้างทำได้ 2 แบบคือ ปักไม้ค้างยาวประมาณ 2 – 2.5 เมตร ทุกๆหลุมแล้วเอนปลายเข้าหากันแล้ววางไม้พาดตามแนวนอน 2 ช่วง อีกวิธีคือ ปักไม้ค้างยาว 2 เมตร ทุกๆระยะ 1.5 – 2 เมตร ขนานกับแถวปลูกแล้วใช้เชือกผูกขวางทุกๆระยะ 30 ซม. และผูกทแยงด้วย
การห่อผล ในขณะที่ผลมะระยังเล็กอยู่ กสิกรนิยมห่อผลมะระด้วยกระดาษ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลมีสีขาวนวลน่ารับประทาน และยังเป็นการป้องกันแมลงมาเจาะทำลาย และยังป้องกันยาฆ่าแมลงมาโดนผลอีกด้วย ชาวสวนจะทำถุงขนาด 15 – 20 ซม. ห่อผลโดยที่ถุงนี้มีปากเปิดทั้งด้านบนและด้านล่าง และใช้ไม้กลัดเหน็บกับขั้วผลกับถุงด้านบน
การเก็บเกี่ยว เมื่อมะระอายุได้ประมาณ 45 วัน จะเริ่มเก็บผลได้ การเก็บผลควรเก็บทุกๆวัน ถ้าปล่อยให้ผลแก่ติดกับต้นจะทำให้ผลไม่ดก ผลจะร่วงมาก มักนิยมเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ ผลมีสีเขียว ถ้าผลเปลี่ยนเป็นสีครีมและแตก แสดงว่าแก่เกินไป ซึ่งในผลแก่นี้จะมีเมือกสีแดงหุ้มเมล็ด แสดงว่าเมล็ดนี้แก่เต็มที่ สามารถเอาไปปลูกแล้วงอกได้ มะระสามารถจะเก็บทยอยได้ประมาณ 10 ครั้ง ในครั้งหลังๆผลที่ได้จะมีขนาดเล็ก
การเก็บเมล็ดพันธุ์ ควรเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นแม่ที่แข็งแรง ผลใหญ่และขนาดสม่ำเสมอ มีลายหยักที่ผิวของผลเป็นทางตรง ต้องควบคุมการผสมละอองเกสร เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ โดยวิธีคือเอาถุงมาสวมดอกตัวเมียที่เพิ่งออกมาแต่ยังไม่บาน และคอยสังเกตดูเมื่อวันที่ดอกบาน เอาเกสรตัวผู้จากดอกในต้นเดียวกันมาจิ้มลงบนเกสรตัวเมีย และสวมถุงกระดาษไว้อย่างเดิม ควรทำเครื่องหมายหรือผูกป้ายไว้ด้วย เพื่อให้รู้ว่าผลนี้เพื่อจะเก็บไว้เอาเมล็ดไปทำพันธุ์ เมื่อผลสุกจะแกะเอาเมล็ดออกจากผลล้างน้ำให้สะอาด แล้วเอาไปผึ่งให้แห้ง ไม่ควรให้โดนแดดจัดมากเกินไป เก็บเมล็ดไว้ในที่แห้งและเห็น เพื่อนำไปปลูกต่อไป
แมลงศัตรู พบว่าแมลงที่เป็นศัตรูที่สำคัญต่อมะระคือ แมลงวันทอง (Fruit fly) เพลี้ยไฟ (Thrips) และเพลี้ยอ่อน (Aphid) โดยที่แมลงวันทองจะทำลายโดยการเจาะผลและวางไข่ในผลทำให้ผลเล็ก แกรน และเน่าเสีย การห่อผลเป็นการป้องกันแมลงนี้ได้ หรืออาจฉีดพ่นยา Malathion หรือ Dimethoate สำหรับพวกเพลี้ยไฟและเพลี้ยอ่อนจะเข้าทำลายโดยการเจาะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้ยอดหงิก และเจริญเติบโตช้า ไม่มีดอกและผล การใช้ยาพวกดูดซึม ต้องกะระยะเวลาก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 15 วัน ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการสะสมสารตกค้างของพิษยาแก่ผลของมะระได้
แหล่งผลิต มะระปลูกมากที่สุดทางภาคใต้เป็นเนื้อที่ 5,936 ไร่ ในจังหวัดตรัง สุราษฎร์ธานี และปัตตานี รองลงมาคือภาคตะวันตกมีเนื้อที่ 3,584 ไร่ ในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และเพชรบุรี และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เพาะปลูก 3,021 ไร่ ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี
พันธุ์ที่ใช้ปลูกกันแพร่หลายคือ พันธุ์สองพี่น้อง เป็นมะระจีน ปลูกมากแถวสุพรรณบุรีและพันธุ์ Knounyore No.1 Hybrid จะมีน้ำหนักผลประมาณ 300 – 400 กรัม ผิวสีขาวครีมขมน้อย รสชาติและคุณภาพดี