วิธีปลูกแอฟริกันไวโอเลต (African Violet)

แอฟริกันไวโอเลต

แอฟริกันไวโอเลต (African Violet) เนื่องจากต้นไม้นี้มีถิ่นกำเนิดใน Africa อีกทั้งแต่เดิมนั้นสีของดอกมีสีม่วงเพียงสีเดียว จึงได้ชื่อว่า แอฟริกันไวโอเลต เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติกับ Baron Walter Saint Paul ซึ่งเป็นคนพบแอฟริกันไวโอเลตเป็นคนแรกเมื่อปี ค.ศ.1892

แอฟริกันไวโอเลต เป็นไม้ประเภท House Plant หรือไม้ปลูกเลี้ยงภายในบ้านเรือน อันเนื่องมาจากมีความต้องการแสงในความเข้ม (light intensity) ไม่มากนัก คือ ประมาณ 800-1,200 foot-candle นิยมปลูกในกระถางขนาด 4-5 นิ้ว แล้วนำไปตกแต่งทั้งกระถางขณะที่กำลังจะบาน ดอกเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศโดยเฉพาะ ในยุโรปและอเมริกา

พันธุ์ดั้งเดิมของแอฟริกันไวโอเลตนั้น มีกลีบดอกชั้นเดียว (single) และมีสีเดียวคือ สีม่วง (violet) ดอกออกเป็นช่อ ก้านดอกยาวประมาณ 7-10 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ มีขนอ่อนอยู่ทั่วไปทั้งบนใบและใต้ใบ ต่อมาวิทยาการก้าวหน้าไปมาก มีการผสมพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ ๆ แปลก ๆ ออกมาจนแทบจะนับไม่ถ้วนมีหลายสี มีทั้งสีขาว สีชมพู สีแดง สีเขียวและสีม่วง (mauve and purple) มีทั้งดอกชั้นเดียวก (single) และดอกซ้อน (double) อีกทั้งกลีบดอกเรียบและกลีบดอกหยัก (ruffled)

การขยายพันธุ์แอฟริกันไวโอเลต

แอฟริกันไวโอเลต สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ โดยเมล็ดและปักชำใบ (leaf cutting)

1. การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เมล็ดของแอฟริกันไวโอเลตมีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าเมล็ดพิทูเนียประมาณ 3-4 เท่า เมล็ด 1 oz มีจำนวนถึง 1,000,000 เมล็ด ฉะนั้น การเพาะเมล็ดจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งตามปกติแล้วไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะได้เมล็ดจากการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะเพาะจริง ๆ ก็เพาะได้ไม่ยากนัก โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ดินที่ใช้เพาะ ควรจะมีขนาดเล็กและสะอาดปราศจากเชื้อโรค ถ้าเป็นได้ควรจะผ่านการอบฆ่าเชื้อโรคมาก่อน ในต่างประเทศใช้พีทมอสผสมกับทราย อัตราส่วน 1:1 จากการทดลองพบว่า ใช้ทรายผสมกับปุ๋ยมะพร้าวที่ร่อนแล้ว อัตราส่วน 1:1 เช่นกัน หรืออาจจะใช้ดินที่ได้จากการหมักทับถมกันของใบก้ามปู (ใต้ต้นก้ามปู) มาผสมกับทรายก่อนสร้างที่ค่อนข้างละเอียด และปุ๋ยมะพร้าวร่อนแล้วในอัตราส่วน 1:1:1 ซึ่งต่อไปจะเรียกส่วนผสมดังกล่าวว่า “ดินผสม” สำหรับเพาะเมล็ด
  • กระบะเพาะอาจใช้กระบะพลาสติกหรือกระถาง 10 นิ้ว ตื้น (ที่ใช้เป็นกระถางสำหรับปลูกไม้กระถางแขวนประดับ) ก็ได้ หากเป็นได้ควรใช้กระถาง 10 นิ้ว จะดีกว่า เพราะสะดวกในการให้น้ำทางก้นกระถาง (sub-irrigation) เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นแล้ว
  • คลุกเคล้า “ดินผสม” ที่เตรียมไว้สำหรับเพาะเมล็ดกับน้ำสะอาด ให้ดินผสมชื้นพอสมควร (ไม่แฉะ) แล้วบรรจุลงในกระถางประมาณ 1 ใน 3 หรืออย่างมากไม่เกินครึ่งของความลึกของกระถาง โดยมีเส้นในของปุยมะพร้าวหรือแผ่นกระสอบที่ตัดเป็นชิ้นส่วนรองก้นกระถาง (แทนการใช้เศษกระถางแตกดังที่ใช้ในการปลูกต้นไม้ทั่ว ๆ ไป)
  • เมล็ดที่จะใช้เพาะไม่ควรเกิน 1,000 เมล็ด ต่อ 1 กระถาง อาจจะเป็นการยากเหลือเกินที่จะนับเมล็ดให้เป็นไปตามนี้ เพราะเมล็ดมีขนาดเล็กมาก แม้แต่จะหายในแรง ๆ เมล็ด อาจจะปลิวหายไปตามลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่เราสามารถจะกะแบ่งเมล็ดได้ในจำนวนที่ใกล้เคียง เพราะถ้าเราสั่งซื้อเมล็ดจากบริษัทที่เชื่อถือได้ แต่ละซองของเมล็ดเขาจะบอกปริมาณ หรือน้ำหนักบรรจุเอาไว้ให้ชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราต้องการเพาะกระถางละประมาณไม่เกิน 1,000 เมล็ด เราก็แบ่งเมล็ดออกเป็น 8 ส่วน หรือ 4 ส่วน ตามลำดับ ตามขนาดที่ระบุไว้หน้าซอง

2. การขยายพันธุ์ โดยใช้ใบปักชำ (Leaf-cutting) การตัดชำเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันในหมู่นักปลูกเลี้ยงต้นไม้สมัครเล่น แต่ไม่นิยมทำเป็นการค้าเพราะได้จำนวนต้นน้อยและเสียเวลามาก จากวันเริ่มปักชำใบจนได้ต้นใหม่ใช้เวลา ประมาณ 2 เดือน

ใบที่จะนำไปปักชำ ไม่ควรเป็นใบที่แก่ (ใบล่าง ๆ) หรืออ่อน (ใบยอด) ควรจะเป็นใบที่กำลังดี คือ อยู่ตอนกลาง ๆ ของต้น การตัดใบควรจะให้มีก้านติดมาประมาณ ครึ่งนิ้ว ทั้งนี้เพื่อจะใช้ยึดเกาะติดกับวัสดุที่ใช้ปักชำ (มิให้ใบโค่นล้มได้ง่าย) การปักชำควรจะได้มีการจัดเรียงอย่างมีระเบียบ หันหน้าใบ หรือหลังใบไปในทางเดียวกันโดยตลอดอย่างมีระเบียบ พยายามอย่าให้ขอบชนกัน อาจจะชำในกระถาง 10 นิ้ว ตื้นเช่นเดียวกับที่ใช้เพาะเมล็ด หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ที่หาง่ายและสะดวก

ดิน (medium) ที่ใช้ชำอาจจะใช้เช่นเดียวกันกับ “ดินผสม” ที่ใช้เพาะเมล็ดก็ได้ การให้น้ำควรจะให้ทางก้นกระถาง (Sub-irrigation) และถ้ามีทางรักษาใบที่ใช้ชำให้สดใสอยู่เสมอ (ไม่เหี่ยว) จะทำให้ออกรากและสร้างต้นใหม่เร็วขึ้น อาจจะใช้ถุงพลาสติกใส่หุ้มทั้งกระถางเอาไว้เลย เพื่อช่วยรักษาความชื้อไว้ก็ได้ หรืออาจจะชำในน้ำก็ยังไหว โดยให้เฉพาะส่วนที่เป็นก้านจุ่มอยู่ในน้ำ ก็จะออกรากได้เช่นกัน

ถ้าเป็นได้ ควรใช้ฮอร์โมนเร่งราก เช่น IBA (Indole Acetic Acid) ความเข้มข้น 50 ppm. จุ่มก้านใบก่อนปักชำ จะช่วยให้ออกรากได้เร็วขึ้น รอจนต้นใหม่งอกสูงประมาณ 1-2 นิ้ว จึงย้ายปลูก

การปลูกแอฟริกันไวโอเลต

ดินที่ใช้ปลูกแอฟริกันไวโอเลตควรจะมีอินทรียวัตถุ (Organic Matter) สูง ๆ อาจจะใช้ทราย 1 ส่วน, ใบไม้ผุ 1 ส่วน ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยมะพร้าว 1 ส่วนก็ได้ ในต่างประเทศใช้พีทมอส 2 ส่วน เพอไรท (perlite) 1 ส่วน ใบไม้ผุ หรือดินดี ๆ 1 ส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ดินผสม 1 ลูกบาตรเมตร ควรจะเติมปุ๋ย 2:1:3 ลงไป 1 กก. กระดูกป่น หรือ Single super phosphate 1 กก. pH ประมาณ 6-6.5 มีการระบายน้ำดี แต่สามารถจะอุ้มน้ำไว้ได้ด้วย

การให้น้ำ

ในระยะแรก ๆ ของการเจริญเติบโตขณะที่อยู่ในกระถาง ให้มีการให้น้ำทางก้นกระถาง ส่วนเมื่อลงกระถางเดี่ยวแล้วนั้น ถ้ายังสามารถให้น้ำทางก้นกระถางได้ย่อมไม่มีปัญหา และเป็นการดีมาก หรืออาจะให้แบบอื่นก็ได้ แต่ไม่ควรให้น้ำเปียกใบเป็นอันขาด เพราะปัญหาเรื่องโรคจะติดตามมา

นอกจากในที่ที่ปลูกนั้น มีการถ่ายเทอากาศดี น้ำที่เปียกใบสามารถจะแห้งหรือระเหยไปภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ในต่างประเทศ ใช้ระบบการให้น้ำแบบก้นกระถาง โดยใช้ทรายก่อสร้างใส่บนโต๊ะหน้า 1 นิ้วครึ่ง แล้ววางกระถางไปบนทรายและหล่อน้ำให้เปียกทรายอยู่เสมอ บางแห่งก็ใช้ระบบการให้น้ำแบบหยด บางแห่งอาจใช้ Mat irrigation

สำหรับเมืองไทยถ้าปลูกไม่มากนักอาจจะใช้หยอดน้ำอย่างระมัดระวังไม่ให้เปียกใบทีละกระถางจนกว่าจะเสร็จ ซึ่งเสียเวลามาก หรืออาจจะใช้จานรองก้น กระถางแต่ละกระถางไปก็ดีไม่น้อย เพราะเราปั้นกระถางได้เอง ราคาถูกและการให้น้ำแบบนี้ยังสามารถผสมปุ๋ยลงไปในน้ำที่ใส่ไว้ในจานรองก้นกระถางได้อีกด้วย

แมลงศัตรูพืชของแอฟริกันไวโอเลต

  1. Cyclamen mite เป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะมีขนาดตัวเล็กมาก ต้องใช้แว่นขยายจึงจะมองเห็นตัวได้ มันจะทำลายยอดอ่อน ทำให้ใบและยอดเสียรูปไป
  2. Aphids ทำลายดอกเป็นส่วนใหญ่
  3. Mealy bug ทำลายโคนใบ
  4. Thrips ทำลายดอก

โรค

Powdery mildew เกิดขึ้นกับทั้งดอกและใบ ทั้งแมลง และโรคนี้ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นกับแอฟริกันไวโอเลตเลย เพราะเกิดขึ้นแล้วทำให้มีตำหนิและยากที่จะรักษา แนะนำให้มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและป้องกันโรคทุกอาทิตย์เป็นประจำ

หากยังเกิดโรคขึ้นกับต้นไม้ ก็ควรจะทำลายเสียให้สิ้นซาก จะปลอดภัยกับต้นและดอกมากกว่า และวิธีการปลูกและดูแลรักษาของเรา อาทิ ดินปลูกเราก็พยายามอบฆ่าเชื้อโรค หรือเลือกหาวัสดุที่สะอาดและใหม่ปราศจากเชื้อโรคมาเป็นเครื่องปลูกอยู่แล้ว การรดน้ำก็พยายามไม่ให้เปียกใบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยและแหล่งที่ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การป้องกันด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และป้องกันโรคให้แอฟริกันไวโอเลตจึงปลอดภัยกว่า

พันธุ์แอฟริกันไวโอเลต

แอฟริกันไวโอเลต จาก catalog ของบริษัท W. Atlee Burpee Co. ปี 1977 มี 3 พันธุ์ คือ

  1. Blue Fairy Tale เป็นลูกผสม ดอกมีขนาดใหญ่ สีฟ้าเข้ม ยอกเกสรตัวผู้มีสีเหลืองเข้มตัดกับใบที่มีสีเขียวเข้มอยู่แล้ว ทำให้มองดูเด่น
  2. Pink Fairy Tale เป็นลูกผสมเช่นกัน ดอกมีขนาดใหญ่ สีชมพูเข้มยอดเกสรตัวผู้มีสีเหลืองเข้มตัดกับใบสีเขียวเข้ม ทำให้มองดูสวยไม่แพ้ Blue Fairy Tale
  3. Ionantha grandiflora ดอกมีขนาดใหญ่สีม่วงเข้ม เป็นที่นิยมมาก และรู้จักกันในชื่อ Usambara Violet.

นอกจากนี้ยังมีพันธุ์แอฟริกันไวโอเลตอื่นอีกหลายพันธุ์ที่นักผสมพันธุ์ได้ผสมขึ้นมา อาทิ เช่น

  1. Lilian Jarrett มีกลีบดอกซ้อนสีชมพูอ่อน ใบมีสีเขียวเข้ม
  2. Norseman ดอกมีสีม่วง ใบมีสีเขียวเข้ม การจัดเรียงของใบเป็นไปอย่างมีระเบียบสวยงาม มีก้านใบยาว ส่งให้แผ่นใบปกคลุมกระถาง
  3. Dolly Dimple เป็นพันธุ์ที่มีพุ่มต้นขนาดเล็ก ดอกสีม่วงอ่อน
  4. Cambridge Pink มีกลีบดอกซ้อน สีชมพูอ่อน แต่ใจกลางดอกจะมีสีชมพูเข้ม
  5. Wedgewood พุ่มต้นกว้างใหญ่อาจจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 ซ.ม. ดอกสีม่วงอ่อน ใบสีเขียวบรอนซ์

ดังได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า วิทยาการก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีการผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ดังเช่น Mr. Herr. Arnold Fisher ซึ่งเป็นนักผสมพันธุ์ไม้ดอกชาวเยอรมัน สนใจผสมพันธุ์ไม้ดอกอยู่เพียง 3-4 ชนิด คือ African Violet, Gloxinia Cyclamen และ Pansies และเขาสนใจ African Violet เป็นพิเศษ ได้พยายามผสมและปรับปรุงพันธุ์มาประมาณ 15 ปี จึงประสบผลสำเร็จ คือในปี ค.ศ. 1972 เขาได้แอฟริกันไวโอเลตพันธุ์ใหม่ ได้ส่งเข้าประกวดที่ Amsterdam และชนะการประกวดมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในชื่อใหม่ว่า Fisher’s Ballet Violet ซึ่ง Ballet Violet ที่ได้สามารถเจริญเติบโตในสภาพต่าง ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น (wide range of growing condition) ดอกใหญ่และทน บานดอกดก (long-lasting)

แอฟริกันไวโอเลต จาก Catalog ของบริษัท Ball ประจำปี 1977 มี 15 พันธุ์ คือ

  1. Abby ดอกขาว
  2. Dolly ดอกขาว แต่ขอบกลีบดอกสีม่วง
  3. Rachel ดอกม่วง แต่ขอบดอกมีสีขาว
  4. Anna ดอกสีชมพูอ่อน กลีบดอกหยัก ใบสีเขียวเข้ม
  5. Christina ดอกม่วง ก้านดอกตั้งตรง ใบสวยสะดุดตา
  6. Erica ดอกแดง กลีบดอกหยักใบสวยสะดุดตา
  7. Eva ดอกม่วง กลีบดอกกึ่งซ้อน (semidouble) ดอกดก พุ่มต้นกะทัดรัด
  8. Heidi ดอกสีชมพู ใบเขียมเข้ม การจัดเรียงใบเป็นไปอย่างมีระเบียบ
  9. Helga ดอกม่วง ใบดกมีสีเขียวเข้ม ต้นแข็งแรง
  10. Inge ดอกม่วงเข้ม กลีบดอกหยักใบสวยเป็นพิเศษ
  11. Karla ดอกชมพู ใบเขียมเข้ม
  12. Lisa ดอกชมพูเข้ม ขนาดดอกใหญ่ กลีบดอกหยัก ใบสีเขียวเข้ม เป็นพันธุ์ที่ชนะเหรียญทองในยุโรปมาแล้ว
  13. Marta สีม่วงเข้ม ดอกใหญ่ กลีบดอกหยัก ต้นแข็งแรง ใบสีเขียวเข้ม
  14. Meta ดอกม่วงเข้ม กลีบดอกหยักเล็กน้อย การจัดเรียงใบเป็นไปอย่างมีระเบียบ พุ่มต้นสวย
  15. Ulli ดอกม่วงเข้ม กลีบดอกหยักดอกดก การจัดเรียงใบเป็นไปอย่างมีระเบียบพุ่มต้นสวย